ประวัติชาวผู้ไทยเมืองเรณูนคร
คุณย่าทิ แก้วมณีชัย พร้อมผู้เฒ่าผู้แก่ชาวผู้ไทยเมืองเรณูนครหลายท่าน ได้เล่าตำนานประวัติของชนชาติผู้ไทยเมืองเรณูนครให้ผู้เขียนและลูกหลานฟังเสมอๆ ซึ่งผู้เขียนขอนำเสนอในครั้งนี้ คุณย่าเล่าว่า เดิมบรรพบุรุษชาวผู้ไทยเมืองเรณูนครมีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองนาน้อยอ้อยหนู ต่อมาบ้านเมืองเกิดการอัตคัตอดยาก ไร่นาไม่อุดมสมบูรณ์และมีพวกฮ่อรุกราน ท้าวก่าหัวหน้าชนชาติผู้ไทยจึงได้อพยพลูกหลานชาวผู้ไทยลงมาทางใต้ ซึ่งยังมีความอุดมสมบูรณ์กว่า เข้ามาอยู่ในเขตปกครองของเจ้าอนุรุธ เจ้าเมืองหลวงพระบาง และเจ้าอนุรุธได้ให้ชาวผู้ไทยไปอยู่ที่เมืองวัง ซึ่งเป็นเขตปกครองของพวกข่า ชาวผู้ไทยและพวกข่าเมื่ออยู่ด้วยกันก็เกิดการแย่งชิงกันเป็นใหญ่ จึงได้ตกลงสัญญาแข่งขันการยิงธนูขึ้นเพื่อตัดสินว่า ผู้ใดเก่งกว่าจะได้เป็นเจ้าปกครอง โดยมีข้อแม้ว่าถ้าลูกธนูของฝ่ายใดสามารถยิงใส่หน้าผาแล้ว ลูกธนูติดหน้าผาไม่ตกลงมา จะถือว่าฝ่ายนั้นเก่งกว่าและชนะการแข่งขันชาวผู้ไทยมีความคิดดีกว่าพวกข่าได้นำขี้สูด(ชันมะโรง) ติดใส่ปลายลูกธนูแล้วยิงใส่หน้าผา ลูกธนูของชาวผู้ไทยจึงยึดติดหน้าผาทุกดอก พวกข่ายอมแพ้และ
ได้ยอมตัวให้ชาวผู้ไทยเป็นใหญ่ได้ปกครองเมืองวังหรือชาวผู้ไทยมักเรียกว่า เมืองวังอ่างคำ เนื่องจากเป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
เจ้าอนุรุธ เจ้าเมืองหลวงพระบางแต่งตั้งให้ท้าวก่าเป็น “พระศรีวรราช” แต่ชาวเมืองวังเรียกว่า “พระยาก่า” พร้อมกับได้ประทานบุตรสาวชื่อ นางช่อฟ้า ซึ่งชาวเมืองวังเรียกว่า “นางลาว” ให้เป็นภรรยา พระยาก่ามีบุตรชายกับนางลาว ๓ คน คือ พระยาเตโช พระยาก่ำ และ พระยาแก้ว ต่อมาเมื่อพระยาก่าถึงแก่กรรม ชาวผู้ไทยจึงได้แต่งตั้งให้พระยาเตโช บุตรชายคนโต เป็นเจ้าเมืองวังแทน เนื่องจากพระยาเตโชมีบุตรชายหลายคนเมื่อโตขึ้นต่างก็แก่งแย่งชิงกันเป็นใหญ่ ระหว่างญาติพี่น้องเดียวกัน โดยเฉพาะพระยาก่ำน้องชายเป็นผู้มีจิตใจดุร้ายเหี้ยมโหดก็ต้องการเป็นใหญ่เช่นกัน ส่วนพระยาแก้วน้องชายคนเล็กเป็นคนสัตย์ซื่อมีน้ำใจโอบอ้อมอารีย์เป็นที่รักใคร่ของชาวเมืองยิ่งนัก พระยาเตโชมีความวิตกว่าพระยาก่ำน้องชายและลูกๆ คงมีปัญหาแย่งชิงกันเป็นใหญ่ในภายภาคหน้าแน่นอน จึงได้ให้พระยาแก้วน้องชาย และ เจ้าเพชร เจ้าสาย บุตรชายทั้ง ๒ คน พร้อมญาติสนิท รวบรวมชาวผู้ไทยส่วนหนึ่งแยกตัวออกไปตั้งบ้านเมืองใหม่ และตั้งชื่อว่า เมืองวังเว หรือชาวเมืองมักเรียกสั้นๆว่า “เมืองเว” มีพระยาแก้วเป็นเจ้าเมืองและขึ้นตรงต่อเมืองวัง เมืองวังเว หรือ เมืองเว เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากชาวผู้ไทยส่วนใหญ่จากเมืองวัง ที่นิยมนับถือพระยาแก้ว ได้พากันอพยพลูกหลานไปอาศัยอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก พระยาก่ำรู้ตัวว่าชาวเมืองวัง และเมืองวังเว จะนิยมนับถือพระยาแก้วมากว่าตัวเอง ต่อไปภายหน้าคงจะยกบ้านเมืองให้ปกครองเป็นแน่แท้ จึงออกอุบายว่าตัวเองป่วย แล้วให้ พระยาแก้ว น้องชายเข้าไปเยี่ยมที่เมืองวัง และเอาหอกแทงพระยาแก้วจนเสียชีวิต นางลาว ผู้เป็นมารดาทราบเรื่องก็มีความโกรธมากจึงได้แช่งไว้ว่า ” คนเชื้อชาติผู้ไทยนี้พี่น้องเดียวกันแท้ๆ ก็ยังฆ่ากันเอง ต่อไปภายหน้าขออย่าให้คนพวกนี้มีอายุมั่นยืนนาน ถ้าจะได้เป็นเจ้าเป็นนาย ก็ขออย่าให้ได้รับความเจริญรุ่งเรืองแต่อย่าให้คนจำพวกนี้อยู่เรือนพื้นกระดานฝากระดานเลย ” พระยาเตโช ทราบเรื่องก็เสียใจมากแต่ไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากตนเองก็มีอายุมากแล้ว ดังนั้น จึงได้ให้เจ้าเพชร และเจ้าสาย บุตรชายทั้ง ๒ คน นำญาติพี่น้องชาวเมืองวังเวหรือเมืองเวและลูกหลานชาวผู้ไทยจากเมืองวัง อพยพข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง เพื่อตั้งบ้านแปงเมืองใหม่ และเพื่อความปลอดภัยของชีวิต
เจ้าเพชร เจ้าสาย ๒ พี่น้อง ได้นำญาติสนิทซึ่งเป็นพี่สาว พี่เขย และญาติพี่น้องชาวผู้ไทยจากเมืองวังเวหรือเมืองเว จากเมืองวังอ่างคำหรือเมืองวัง ที่มีความสมัครใจข้าม แม่น้ำโขงมาอยู่ฝากฝั่งทางขวา (ภาคอีสานปัจจุบัน) ในการอพยพมาครั้งนั้นมีอนุภรรยาของพระยาเตโชซึ่งท้องแก่ตามมาด้วยคนหนึ่งและได้คลอดบุตรชายกลางป่าในระหว่างเดินทาง จึงตั้งชื่อให้ว่า “ไพร” หรือ “ไพ” เจ้าเพชร เจ้าสาย ๒ พี่น้อง ได้นำชาวผู้ไทยล่องเรือข้ามแม่น้ำโขงมาขึ้นฝั่งที่บ้านโพธิ์สามต้น (ปัจจุบันคือบ้านพระกลางทุ่ง อ.ธาตุพนม) แต่เห็นว่าที่ตรงนั้นยังไม่มีความเหมาะสมในการตั้งบ้านเมือง จึงได้อพยพนำชาวผู้ไทยไปตั้งบ้านเมืองอยู่ที่ริมหนองหาร (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร) อยู่ได้ประมาณ ๖ เดือน ปรากฎว่าชาวเมือง บุตร หลาน ต่างเจ็บไข้ได้ป่วยเสียชีวิตไปหลายคน เจ้าเพชร เจ้าสาย ได้ปรึกษาหารือกับบรรดาชาวเมืองว่า เดิมพวกเฮาอยู่เมืองวังอ่างคำ อยู่เมืองเว อยู่ดงหนาป่ามืด บัดนี้ลงมาอยู่ทุ่งกว้างป่าแปน (ที่ลุ่ม) ผิดน้ำผิดอากาศ บุตรหลานของพวกเฮาจึงพากันเจ็บไข้ได้ป่วยตายไปเสียมาก ขืนอยู่ต่อไปบุตรหลานจะพากันตายเสียหมด พวกผู้ไทยจะสูญพันธุ์เสียเท่านั้น ดังนั้น จึงได้ชวนกันเดินทางกลับเมืองวังถิ่นเก่าอันเป็นดงหนาป่ามืดอยู่ท่ามกลางหุบเขาต่อไป เมื่อมาถึงริมแม่น้ำโขงที่บ้านโพธิ์สามต้นหรือบ้านพระกลางทุ่ง เจ้าเพชร เจ้าสายและญาติผู้ใหญ่หลายคนได้แวะเข้าไปนมัสการองค์พระธาตุพนม และกราบพระภิกษุทา เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม พร้อมกับได้เล่าเรื่องราวการเดินทางไปอยู่หนองหารให้ทราบและกำลังจะเดินทางกลับเมืองวัง พระภิกษุทาจึงบอกว่าบัดนี้พระยาเตโชเจ้าเมืองวังได้เสียชีวิตแล้ว พระยาก่ำได้ยกตนเองขึ้นเป็นเจ้าเมืองวังแทนและกำลังมีการต่อสู้กันอยู่อย่าได้ข้ามกลับไปเลย ถ้าข้ามกลับไปคงจะไม่ปลอดภัยแก่ชีวิต จึงได้แนะนำสถานที่เหมาะสมสำหรับจะตั้งบ้านเมืองให้แห่งหนึ่ง อยู่ทางทิศเหนือองค์พระธาตุพนม มีปูปลานาน้ำ บ่อทานาเกลืออุดมสมบูรณ์ มียอดบุ่นยอดหวายสัตว์ป่าชุกชุมมากมาย ท่านได้เรียกให้ควาญช้างนำช้างบักเอก (ช้างงาเดียว) เดินทางนำ เจ้าเพชร เจ้าสาย ๒ พี่น้องพร้อมญาติพี่น้องชาวผู้ไทยไปดูสถานที่ดังกล่าว เจ้าเพชร เจ้าสาย เมื่อเดินทางถึงและพิจารณาดูพื้นที่ภูมิประเทศแล้ว อุดมสมบูรณ์ดีนัก “ดินกะดำ น้ำกะชุ่ม” มีป่าไม้สูง มีกอหวายขึ้นเป็นดง มีหนองน้ำขนาดใหญ่ มีบ่อเกลือ มีลำห้วยน้ำไหลตลอดปี ดังนั้นจึงเดินทางไปอพยพลูกหลานชาวผู้ไทยพากันมาตั้งบ้านเมืองขึ้นที่โนนดงหวาย มีลำห้วย สายบ่อแกไหลผ่าน จึงตั้งชื่อบ้านเมืองใหม่ว่า “บ้านดงหวายสายบ่อแก” แต่ชาวเมืองมักเรียกสั้นๆว่า “บ้านดงหวาย” หรือ “เมืองเว” (เนื่องจากเป็นชาวผู้ไทย “เมืองวังเว หรือ เมืองเว นั่นเองย่าทิ แก้วมณีชัย เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เจ้าเพชร เจ้าสาย ตั้งเมืองเวก่อนเจ้าอนุวงศ์ แห่งเมืองเวียงจันทน์ คิดกบฎต่อกรุงเทพฯ ประมาณปีกว่าๆ ปัจจุบันชาวเมืองเรณูนคร ยังคงเรียกชื่อ เมืองเว ติดปากมาจนถึงปัจจุบัน) ในราวปี พ.ศ.๒๓๖๙ ซึ่งตรงกับต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงค์จักรี และสมัยนั้นประเทศลาว มีเจ้าอนุวงศ์เป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองเมืองเวียงจันทน์ เมืองประเทศราชของไทย
ชาวผู้ไทยบ้านดงหวาย เป็นชาวผู้ไทยที่มีนิสัยรักความสงบ ชอบความอิสระ สตรีชอบทำการฝีมือทอผ้า เย็บปักถักร้อย บุรุษชอบทำการค้าขาย โดยเป็นพ่อค้านำสินค้าไปขายยังต่างเมือง ต่างแดน เป็นนายฮ้อยนำฝูงคาราวานควายไปขายยังกรุงเทพมหานคร และบางคณะจะนำฝูงคาราวานควายไปขายถึงเมืองมะระแมง ประเทศพม่า ดังนั้น จึงได้พบเห็นความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองอื่นๆเสมอ พร้อมกลับได้แลกเปลี่ยนสินค้าใหม่ๆกลับเข้ามาสู่ หมู่บ้านอีกด้วย ประกอบกับชาวผู้ไทยจากเมืองวัง (อยู่ฝั่งซ้าย) ได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาสมทบอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก บ้านดงหวาย หรือ เมืองเว จึงเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ มีความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้นเป็นลำดับ
พ.ศ. ๒๓๗๓ พระสุนทรราชวงษา เจ้าเมืองยโสธร ได้มาจัดราชการอยู่ ณ เมืองนครพนม และมีใบบอกขอตั้งบ้านดงหวายเป็น ” เมืองเรณูนคร ” เนื่องจากสตรีสาวชาวผู้ไทย เมืองเวนั้น ได้ชื่อว่าเป็นคนสวย มีผิวพรรณขาว บุคลิกลักษณะน่ารัก น่าเอ็นดู มีนิสัยเบิกบาน ยิ้มแย้มแจ่มใส มีอัธยาศัยไมตรีดี มีความซื่อสัตย์ แต่งกายสะอาด เป็นคนฉลาดรอบรู้ ชอบเข้าสังคม และเป็นผู้ยึดมั่นรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามต่างๆได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น “เมืองเรณูนคร” จึงหมายถึง เมืองแห่งคนสวย เปรียบดังเมืองแห่งดอกไม้งาม
วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๘๑ เจ้าเพชร ท้าวบุตร ท้าววอ ได้เดินทางเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์จักรี เป็นครั้งแรก เพื่อรับพระราชทานน้ำพิพัฒน์สัตยาและรับพระราชทานเงินตราคนละห้าตำลึง เสื้อโหมดเมืองบนคนละตัว ผ้าไหมนุ่งคนละผืน แพรจุนติ๋วคนละผืน
วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๘๔ พระมหาสงครามผู้อยู่รักษาเมืองนครพนม ได้จัดกองทัพหัวเมืองในภาคอีสานข้ามแม่น้ำโขงเข้าตีเมืองวัง เมืองตะโปน เมืองพิน เมืองนอง เมืองเชียงรม เมืองผาบัง ซึ่งตั้งตัวแข็งเมืองกับกรุงเทพมหานครและไปฝักใฝ่กับพระเจ้าแผ่นดินเมืองแกว เจ้าสาย นายบ้านดงหวายและชาวผู้ไทยบ้านดงหวาย หรือ เมืองเว ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมสงครามครั้งนี้ด้วยเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดินกรุงเทพมหานคร ผลปรากฎว่ากองทัพพระมหาสงครามสามารถตีเมืองต่างๆได้ และยอมเป็นเมืองขึ้นของกรุงเทพมหานครต่อไป
พ.ศ. ๒๓๘๕ เจ้าเพชร เจ้าสาย นายบ้านดงหวาย ได้จัดนอระมาด ๒ ยอด งาช้าง ๔ กิ่ง เร่วหนัก ๓ หาบ ส่งให้เจ้าเมืองนครพนม โดยมีเจ้าเพชร กับไพร่คุมไปทูลเกล้า ถวายรัชกาลที่ ๓ ที่กรุงเทพมหานคร พร้อมเครื่องราชบรรณาการของเมืองนครพนมด้วย (ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่กล่าวว่า เจ้าเพชร เดินทางไปเข้าเฝ้าครั้งนี้ เพื่อรับสัญญาบัตรพระราชทานแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองเรณูนคร และได้ป่วยขณะเดินทางกลับพร้อมทั้งเสียชีวิตก่อนเดินทางกลับถึงเรณูนคร)
พ.ศ. ๒๓๘๗ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านดงหวาย แขวงเมืองนครพนม เป็น ” เมืองเรณูนคร ” ขึ้นเมืองนครพนม และพระราชทานสัญญาบัตรแต่งตั้งให้ เจ้าสาย เป็น ” พระแก้วโกมล ” เจ้าเมืองเรณูนคร เนื่องจาก เจ้าสาย เคยไปราชการกองทัพร่วมกับพระมหาสงครามและได้รับชัยชนะกลับคืนมา จึงได้รับพระราชทานนามสกุล เป็นต้นตระกูล “แก้วมณีชัย” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
( จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่กล่าวว่าเดิมนั้น ชาวผู้ไทยยังไม่มีนามสกุลใช้แต่ทุกคนเป็นญาติพี่น้องมีสายเลือดเดียวกัน เจ้าสายไปราชการชนะศึกสงครามมาจึงเป็นต้นตระกูล “แก้วมณีชัย”
ญาติพี่น้องอื่นที่ไม่ได้ไปราชการสงครามแต่ได้เดินทางไป ” รับ ” ( ภาษาผู้ไทยใช้คำว่า “ลัด” ) เอาคณะที่ไปทำสงคราม จึงได้ตั้งนามสกุลเป็น “โกพลรัตน์” เจ้าไพ บุตรพระยาเตโชที่คลอดระหว่างเดินทางมากับคณะเจ้าเพชร เจ้าสาย ใช้นามสกุล “เตโช” ท้าวบุตร พี่เขยเจ้าสาย ใช้นามสกุล “บัวสาย ” ท้าวอินทิสาร พี่เขยเจ้าสาย ใช้นามสกุล ” อินทร์ติยะ” )
วันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัตินามสกุล” และประกาศให้ประชาชนชาวไทย ทุกคนมีนามสกุลและให้จดทะเบียนนามสกุลต่อทางราชการ
วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ นายบัวเทศ แก้วมณีชัย บุตรชายคนที่ ๓ ของ
“ขุนสมัครสมานราษฎร์ ” (โพธิสาร แก้วมณีชัย) หลานปู่พระแก้วโกมล(สิงห์ แก้วมณีชัย)
ได้รับอนุญาตจากทางราชการ และจดทะเบียนนามสกุล ” แก้วมณีไชย ” ซึ่งใช้มาตั้งแต่สมัย
ปู่ทวด คือ พระแก้วโกมล (เจ้าสาย แก้วมณีชัย) ต่อมาบุตร หลาน ได้เปลี่ยนแปลงคำว่า “ไชย” จากภาษาพูด เป็น ” ชัย” ตามหลักภาษาไทย ซึ่งคำทั้งสองนี้มีความหมายเดียวกัน ปัจจุบันญาติ
พี่น้องทุกคน จึงใช้นามสกุล ” แก้วมณีชัย “
ชาวผู้ไทยเมืองเรณูนคร ไม่ว่าจะใช้นามสกุลใดๆ ก็ตาม ถ้าสืบสายโลหิตแล้วทุกคนมาจากรากเหง้าต้นตระกูลเดียวกัน ต่างเป็นลูกหลานเจ้าปู่ถลา บรรพบุรุษยอดนักรบของชาวผู้ไทย
ด้วยกันทุกคน การตั้งนามสกุลนั้นเป็นเพียงการแยกตัวบุคคลที่มีชื่อซ้ำๆกัน เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบตัวบุคคลออกจากกันเท่านั้น
ชาวผู้ไทยเมืองเรณูนคร มาจากไหนมีรากเหง้าเหล่ากอเป็นเช่นไร เป็นหน้าที่ของลูกหลานชาวผู้ไทยเรณูนครต้องสืบค้นหาต่อไป เพื่อให้ประวัติศาสตร์ชนชาติผู้ไทยบันทึกไว้อย่างถูกต้องและเพื่อการศึกษาของบุตรหลานอนุชนรุ่นหลังตลอดไป