พงศาวดารชาติภูไท หรือ ผู้ไทย Posted in ชนเผ่าในนครพนม, อำเภอเรณูนคร แผ่นดินอันเป็นพื้นภูมิที่ตั้งของประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า มาเลเซีย และ เวียดนาม แต่ก่อนนานกว่า 2500 ปีมาแล้ว รวมเรียกว่า สุวรรณภูมิประเทศ หรือ แหลมทอง หรือ เมืองเชียงทอง ด้วยเหตุว่าพื้นภูมิประเทศเหล่านี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทองคำ เมื่อชนชาติต่างๆได้เข้ามาตั้งหลักฐานบ้านเรือนอยู่ในดินแดนนี้ จึงเรียกนามเมืองหลวงว่า “เมืองเชียงทอง” พื้นที่อันเป็นสุวรรณภูมิประเทศนี้ เป็นแหลมใหญ่ตั้งอยู่ระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับประเทศจีน ขั้นกันด้วยเหตุนี้ ในสมัยปัจจุบัน จึงเรียกว่า ประเทศอินโดจีน สุวรรณภูมิประเทศหรือประเทศอินโดจีนนี้ เดิมมีคนชาติขอมและชาติละว้า หรือ ชาติลัวะ เข้ามาตั้งเป็นหลักฐานอยู่ก่อนชนชาติใด อาจารย์ริตเดวิดชาวอังกฤษ บันทึกไว้ว่า สุวรรณภูมิประเทศนั้นหมายเอาประเทศรามัญ(มอญ) คือเขตแขวงเมืองหงสาวดีลงไปจนตลอดแหลมมลายู ส่วนกรมพระยาดำรงราชานุภาพ นักประวัติศาสตร์ชาวไทย กล่าวไว้ว่า แผ่นดินประเทศไทยเขตแขวงจังหวัดนครปฐม คือที่ตั้งเมืองเชียงทอง เพราะมีพระธาตุปฐมเจดีย์เป็นหลักและกงธรรมจักร ที่สร้างขึ้นในสมัยพระยาอโศกราชอยู่ที่นั้นด้วย แต่ในตำนานอุรังคะธาตุกล่าวว่า เมืองสุวรรณภูมิประเทศนี้เป็นเมืองของท้าวคำปาง ตั้งอยู่ในเขตแขวงนครเวียงจันทน์ตอนบ้านเก้าเลี้ยว (ท้าวคำปางเป็นคนชาติขอมแตกมาแต่เมืองหนองหาร) ส่วนในหนังสือท่านขุนบรม ฯ หมายเอาดินแดนอันเป็นประเทศลาว ตั้งแต่เขตแขวงเวียงจันทน์ลงไปจนถึงดินแดนประเทศเขมร ดังมีบันทึกไว้ว่า” ธาตุตกมาเมืองสุวรรณภูมิประเทศที่หลักหินเป็นเค้า เมื่อพระศรีธรรมอโศกราชให้พระอรหันตาเจ้าทั้งหลายเอาธาตุมาตกในเมืองอันนี้ ที่ ๑ ว่าภูพระหางที่นี้เป็นเค้า ที่ ๑ พระนารายณ์ ที่ ๑ พระศาด ที่ ๑ พระสะเขียน ที่ ๑ พระนาเทียนสองที่นี้อยู่เมืองขวางโลกบานที่ ๑ ว่าพนม(ธาตุพนม) ที่ ๑ ว่าโพนผิงแดด อันที่ปากปาสักก้ำใต้เจ้ารัดสีใส่อูบธาตุไม้จันทน์ไว้นั้น ธาตุพระเจ้าทั้ง ๔ ลูก จึงอธิษฐานไว้หั่นแล ฯ “ คนชาติขอมคือ คนชาติแขกอินเดียโบราณ ซึ่งทุกวันนี้ได้กลับกลายมาเป็นเขมร มอญ เม็ง ข้า ขมุ มะลายู ฯลฯ ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศอินโดจีนภาคใต้ก่อนชนชาติอื่นได้หลายพันมาแล้ว และได้ตั้งเป็นอาณาจักรใหญ่ๆ ขึ้น ๒ อาณาจักร คือ ๑. อาณาจักรหงสาวดี หรือ อาณาจักรศรีวิไชย อาณาจักรนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ตั้งแต่เมืองนครปฐมของประเทศไทย ไปถึงประเทศมอญและพม่า ทิศใต้ตลอดถึงประเทศมะลายู ๒. อาณาจักรโคตะปุระ หรือ โคตะบูณ ตั้งอยู่ภาคตะวันออกในพื้นที่อันเป็นเขตแขวงนครเวียงจันทน์ ลงไปจนถึงประเทศเขมร โคตะปุระ เป็นภาษาสันสกฤษ แปลว่าเมืองตะวันออก ต่อมาเรียกว่า โคตะบูณ หรือ โคตะบอง หรือ สีโคตะบอง (เมืองหลวงของอาณาโคตะปุระนี้ ตามตำนานพระธาตุพนมว่า ตั้งอยู่ใต้ปากน้ำเซบั้งไฟลงไปเรียกว่า เมืองโคตะบูณ ภายหลังได้ย้ายมาอยู่ดงไม้ฮวกทางตะวันตกธาตุพนม เรียกว่า เมืองมะรุกขะนคร ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. ๓๑๘ (ก่อน ค.ศ.๒๒๕) พระยาสมิตะธัมมะ กษัตริย์ขอมได้ย้ายลงไปตั้งอยู่เมืองสาเกตนคร คือเมืองร้อยเอ็ด ภายหลังย้ายมาตั้งอยู่นครทม ) เมืองมะรุกขะนคร เดิมมีกษัตริย์ปกครองเรื่อยมา จนถึงปี พ.ศ.๕๐๐ (ก่อน ค.ศ.๔๒ ปี) จึงได้ร้างไป ต่อมาอีกหลายร้อยปี เมื่อชนชาติลาว ได้เข้าปกครองดินแดนส่วนนี้ จึงได้มาตั้งเมืองมะรุกขะนครขึ้นใหม่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง คือ บริเวณเมืองท่าแขกในปัจจุบัน ต่อมาถึง ปีขาล จุลศักราช ๙๗๖ (ค.ศ.๑๖๑๔) พระเจ้านครหลวงพิชิตทะสทิสราชธานี (เจ้าพ่อเมือง) จึงเปลี่ยนชื่อเมืองมะรุกขะนคร ให้เป็นเมืองสีโคตะบูณตามนามเดิม อาณาจักรสีโคตะบูณนี้ จีนเรียกว่า เปาะหน่าน หรือ ฟูนัน หรือ โพหนัม คือ พนม นั้นเอง มูลเหตุที่พวกขอมอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศสุวรรณภูมิครั้งพระยาอโศกราชนั้น มีกล่าวไว้ในคัมภีร์มหาวงษ์ และในสีลาเลขของพระยาอโศกราชเองว่า “เมื่ออโศกราชกุมารขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นเจ้าแผ่นดินในนครปาตลิบุตรได้ ๑ ปี พระองค์ได้ยกทัพหลวงลงมาตีเอาประเทศกลิงครัฎฐซึ่งอยู่ทางใต้ ในการสงครามคราวนี้ ชาวประเทศกลิงครัฎฐ ถูกฆ่าตายหลายแสนคน ส่วนที่ถูกจับเป็นเชลยก็หลายแสนคนเพราะภัยสงครามคราวนี้ พวกอินเดียภาคใต้ จึงได้อพยพเข้ามานับถือพระพุทธศาสนา แล้วร่วมมือกับพระโมคคัลลีบุต จัดการส่งภิกษุผู้สามารถออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆหลายประเทศ ในปี พ.ศ. ๒๓๖(ก่อน ค.ศ.๓๐๖) พระโสณะ กับพระอุตระ ถูกส่งมาสุวรรณภูมิประเทศ ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. ๖๐๐ (ค.ศ.๕๗) ศาสนาพราหมณ์อันเป็นลัทธิศาสนาเก่าของพวกอินเดีย จึงได้เผยแผ่เข้ามาในประเทศอินโดจีน โดยมีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่า โกณฑัญญะ เป็นผู้นำมาโกณฑัญญะพราหมณ์มาได้กับบุตรีของพระยาขอมสืบเชื้อสายลงมา ดังนั้นศาสนาพราหมณ์จึงเจริญรุ่งเรืองแต่บัดนั้นมาจนถึงสมัยของพระเจ้าไชยะวรมัน ที่ ๓ จึงได้สร้างปราสาทหินขึ้นที่นครทม ตามแบบอย่างศาสนาพราหมณ์ในปี ค.ศ.๘๕๗ ต่อมาถึงปี ค.ศ.๑๐๕๗ กษัตริย์ขอมองค์หนึ่งก็ได้มาสร้างปราสาทหินนครวัดขึ้นตามแบบอย่างศาสนาพราหมณ์ดังเดียวกัน ซึ่งเป็นเวลานานถึง ๒๐๐ ปี เป็นเวลาที่พวกขอมมีอำนาจรุ่งเรืองที่สุดใน อินโดจีน ในระยะนี้ขอมได้เผยแผ่อาณาเขตขึ้นไปถึงอาณาจักรเชียงแสน ชนชาติละว้า หรือ ลัวะ สันนิษฐานว่า คือพวกลาวเดิมพวกหนึ่งซึ่งได้เข้ามาตั้ง ถิ่นฐานอยู่ในประเทศอินโดจีน ด้านเหนือกว่าพวกขอม คือตั้งแต่เมืองลพบุรีขึ้นไปถึงอาณาจักรเชียงแสน ต่อแดนเมืองยูนานของจีนทุกวันนี้ ชนชาติลัวะมีความเจริญรุ่งเรืองเท่าเทียมขอม ดังนั้น เมื่อพวกขอมแผ่อำนาจขึ้นมาทางเหนือ จึงแย่งเอาดินแดนของชนชาติลัวะไปหมด ชนชาติลัวะจึงได้เสื่อมอำนาจลงกลายมาเป็นพลเมืองของขอม และกลายมาเป็นพลเมืองของประเทศลาวและภาคอีสานของไทยในปัจจุบัน