สภาพภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อมและสังคม

1.   สภาพภูมิศาสตร์

1.1   ที่ตั้ง    ขนาด   อาณาเขต (และพรมแดน)
จังหวัดนครพนมเป็นจังหวัดชายแดน   ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   (ตอนบน)   ของประเทศไทย มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวพื้นที่เป็นแนวยาวเลียบ   ตามฝั่งขวาของแม่น้ำโขงในช่วงที่เป็นส่วนโค้งของคมขวานของแผนที่ประเทศไทย (ขวานทอง)   หรือเรียกได้ว่า   เป็นพื้นที่สุดแผ่นดินสยาม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   ด้านพรมแดนติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว   โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดน   หากพิจารณาพิกัดที่ตั้งตามแนวเส้นรุ้งและเส้นแวง   จังหวัดนครพนมตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 16   ถึง 18   องศาเหนือและเส้นแวงที่ 104 ถึง 105 องศาตะวันออก ระยะห่างจากกรุงเทพมหานคร โดยทางรถยนต์ ประมาณ 735   กิโลเมตร
ขนาดพื้นที่จังหวัดนครพนม ความกว้างตามแนวตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้ กว้างโยเฉลี่ยประมาณ กิโลเมตร ความยาวเลียงตามฝั่งน้ำแม่น้ำโขง   มีความยาวประมาณ   153   กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับ   จังหวัดใกล้เคียง ดังนี้
ทิศเหนือ            ติดต่อกับ                อำเภอเซกา  และอำเภอบึงโขงหลง  จังหวัดหนองคาย
ทิศตะวันออก      ติดต่อกับ                แม่น้ำโขงตรงข้ามกับแขวงคำม่วน ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ทิศใต้               ติดต่อกับ                อำเภอดงหลวงและอำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร
ทิศตะวันตก        ติดต่อกับ                อำเภออากาศอำนวย   อำเภอกุสุมาลย์ และกิ่งอำเภอโพนนาแก้ว   จังหวัดสกลนคร

1.2    โครงสร้างทางธรณีวิทยา
พื้นที่จังหวัดนครพนมเป็นส่วนหนึ่งของที่ราบสูง   ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   หากจะเปรียบเทียบพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   เป็นกระใบใหญ่ที่ตะแคงขอบด้านหนึ่งเอียงลงไปทางเขตพื้นที่   จังหวัดอุบลราชธานี   จังหวัดศรีสะเกษ
ส่วนขอบกระทะส่วนที่เอียงสูงขึ้นได้แก่   พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา   ชัยภูมิ   เลย   หนองคาย   อุดรธานี   สกลนคร   และนครพนม   ซึ่งจังหวัดนครพนมเป็นพื้นที่ขอบกระทะที่สูงขึ้นระดับกลางที่ลาดเอียงลงไปทางจังหวัดมุกดาหารและอำนาจเจริญ   หากจะพิจารณาก็จะเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่ราบสูงและเป็นที่ราบลุ่มชายฝั่งแม่น้ำโขง
โครงสร้างทางธรณีวิทยาของพื้นที่จังหวัดนครพนมโดยทั่วไปประกอบด้วยหินชั้นหรือตะกอนของหินชุดหรือ   หินตะกอนที่เกิดสะสมตัวในมหายุคซีโนโซอิค   สภาพธรณีสัณฐานแบ่งออกได้เป็นสภาพสันดินริมน้ำเก่าและที่ราบท่วมถึงกับสภาพลานตะพักลำน้ำ   ซึ่งมีสภาพพื้นที่สูงกว่าที่ราบน้ำท่วมถึง   วัตถุต้นกำเนิดดินเป็นทั้งดินที่เกิดจาก   น้ำพัดพามา   ทับถมทั้งเก่าและใหม่   ส่วนใหญ่ค่อนข้างใหม่   ลักษณะตะกอนเป็นดินทราย   ดินทรายแห้ง   ดินร่วน   เหนียวปนทรายแป้งและดินเหนียวทับถมลักษณะทั่วไปเหมือนกับจังหวัดอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแต่จะแปลกแตกต่างอยู่บ้างเนื่องจากเป็นส่วนขอบกระทะ   และเป็นที่ราบลุ่มชายฝั่งแม่น้ำโขงโครงสร้างดินประกอบด้วย
ชั้นที่   1   ดินชั้นบนเป็นดินร่วนหรือดินปนทราย   หนาประมาณ   1   เมตรบางแห่งหน้าดิน   ชั้นนี้จะเป็นแอ่งลึกลงไปเนื่องจากอาจจะเคยเป็นแอ่งน้ำที่ตื้นเขิน   แต่บางแห่งดินชั้นที่   2   โผล่ขึ้นมา   เป็นบริเวณกว้างเป็นดินผสมหินลูกรังหรือเป็นหินลูกรังหรือตะกอนหิน   ซึ่งเป็นตะกอน   ของหินหรือหินชุด
ชั้นที่   2   ของโครงสร้างพื้นดิน   ลึกลงไปจะเป็นหินลูกรังหนาประมาณ   1-2   เมตร   หลายแห่งเป็นลูกรังชั้นดีและบางแห่งเป็นกรวดแม่น้ำหรือตะกอนของหินหนาประมาณ   1-2   เมตร   เช่นเดียวกัน   อาจจะเคยเป็นทางน้ำหรือแอ่งน้ำมาก่อนเช่นในบางส่วนของ   อำเภอบ้านแพง   ท่าอุเทน   อำเภอเมืองและธาตุพนม   หินกรวดจะเห็นได้ชัดเจนในแม่น้ำโขง   ดินชั้นนี้มีประโยชน์มากในการนำหินกรวดดินลูกรังไปสร้างถนน   ถมที่   เป็นสินค้าที่ขายได้ดีในทางเศรษฐกิจ
ชั้นที่   3   ถัดจากดินชั้นที่   2   ลงไปอีก   จะเป็นดินแดงหรือทรายแดงอักแน่น   มีความหนามากตั้งแต่ประมาณ   10   เมตร   ถึง   60   เมตร   หรือมากกว่า   ยกเว้นทางตอนเหนือของจังหวัดจะเป็นเขตพื้นที่ภูเขาหินทรายหรือหน่วยหินโคกกรวด
ชั้นที่   4   ถัดลงไปอีกจะเป็นหินดาน   หินทราย   หรือหินเกลือ   ตามโครงสร้างทั่วไปของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   ดินชั้นนี้จะไม่ค่อยได้พบหรือนำมาใช้ประโยชน์อะไร   ในสภาพการดำรงชีวิตประจำวันของท้องถิ่น

1.3   ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของจังหวัดนครพนมเป็นพื้นที่ราบลุ่มชายฝั่งแม่น้ำโขง   ซึ่งเป็นพื้นที่ยาวตามชายฝั่งแม่น้ำโขงถึง   153   กิโลเมตร  เป็นพื้นที่มีป่าไม้สลับกับแม่น้ำลำห้วยหรือแอ่งน้ำ   และมีภูเขาทางตอนบนด้านทิศเหนือของจังหวัดในเขตอำเภอบ้านแพงติดต่อกับอำเภอเซกาและอำเภอบึงโขงหลง   จังหวัดหนองคาย   จังหวัดนครพนมมีความสูงจากระดับน้ำทะเล   ประมาณ   140   เมตร   ความแตกต่างของสภาพภูมิศาสตร์จะแบ่งได้เป็นเขตพื้นที่   คือ
เขตเหนือ   พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มมีน้ำท่วมถึง   มีลักษณะเป็นทุ่งกว้างมีป่าไม้สลับซึ่งเป็นป่าค่อนข้างทึบ   พื้นที่ตอนบนมีเทือกเขาภูลังกาทอดผ่านและเลยเข้าไปในเขตอำเภอเซกา   จังหวัดหนองคาย   มีแม่น้ำและลำน้ำที่สำคัญไหลผ่าน   คือ   แม่น้ำโขง   แม่น้ำสงคราม   ลำน้ำอูน   ลำน้ำยาม   นอกจากนี้ยังมีลำห้วย   คลอง   ที่มีน้ำไหลจากแอ่ง   หรือแหล่งน้ำ   ในพื้นที่ลงสู่แม่น้ำโขงอีกหลายแห่ง   เช่น   ห้วยลังกา   ห้วยเสียว   ห้วยทวย   ห้วยบ่อ   แอ่นน้ำ   ขนาดใหญ่   เช่น   หนองสาหร่าย   หนองนาเพียง   เป็นต้น   ในเขตนี้พื้นที่ครอบคลุม   6   อำเภอ   คือ   อำเภอบ้านแพง   อำเภอศรีสงคราม   อำเภอท่าอุเทน   อำเภอนาหว้า   อำเภอโพนสวรรค์   และอำเภอนาทม จากสภาพพื้นที่ที่เป็นป่าไม้   ภูเขา   ที่ลุ่มและแอ่งน้ำ   หรือลำน้ำ   จึงเป็นสภาพที่อุดมสมบูรณ์  ทำให้เกิดอาชีพต่าง ๆ ของราษฎรเช่น   การปลูกข้าว   และยาสูบ   โดยเฉพาะอำเภอบ้านแพงยาสูบเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญมีคุณภาพดีเป็นพืชเศรษฐกิจรองจากข้าว   อาชีพการประมงน้ำจืด    มีมากในเขตพื้นที่อำเภอท่าอุเทน   อำเภอศรีสงครามและบางส่วนของอำเภอนาหว้า   อำเภอนาทม   อาชีพนี้ทำรายได้ให้กับประชาชนจำนวนมากเพราะประชาชนทำมาหากิน   มีอาชีพประมงและอื่น ๆ บริเวณลำน้ำอูน   แม่น้ำสงครามซึ่งถือเป็นแม่น้ำเส้นชีวิต   ของพื้นที่ตอนบนของจังหวัดนครพนม
เขตใต้   พื้นที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม   มีน้ำท่วมถึง   สลับกับเนินดิน   หรือหินโดยเฉพาะในส่วนทิศตะวันตกซึ่งอยู่ห่างจากแม่น้ำโขงออกไปจะเป็นที่สูง   พื้นดินส่วนมากเป็นลูกรังปนทราย   มีป่าไม้เต็งรัง   มีแม่น้ำและลำน้ำที่สำคัญไหลผ่าน   คือ   แม่น้ำโขง   แม่น้ำก่ำ   ลำน้ำบัง   แม่น้ำก่ำจะเป็นแม่น้ำสำคัญเสมือนเส้นชีวิตของประชาชนในเขตใต้   ซึ่งมีโครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำและโครงการตามแนวพระราชดำริ   นอกจากนี้มีลำห้วย   ลำคลองที่มีน้ำไหลจากแอ่งหรือแหล่งน้ำในพื้นที่ลงสู่แม่น้ำโขง   เช่น   ห้วยหนองเซา   ห้วยบังฮวก   ห้วยยางคน   ห้วยกะเบา   มีแอ่งน้ำหรือหนองน้ำขนาดใหญ่   เป็นที่อาศัย   ทำมาหากินของชุมชน   เช่น   หนองสังข์   เป็นต้น   จากสภาพภูมิศาสตร์ของเขตใต้เป็นที่เหมาะสำหรับการเกษตร   ทำให้เกิดหมู่บ้านหรือชุมชนขนาดใหญ่หลายแห่ง   ประชาชนประกอบอาชีพทำนาในบริเวณทุ่งกว้าง   น้ำท่วมถึงเป็นที่นาสลับกับเนินดินมีป่าไม้เต็งรัง   ทำให้สามารถทำนาได้ผลดีเช่นในบริเวณทุ่งนาแก   และเขตกิ่งอำเภอวังยาง   ปลูกข้าวหอมมะลิ   ประกวดได้ที่   1   ของประเทศ   ติดต่อกัน   3   ปี   ราษฎรมีอาชีพประมงน้ำจืดในแม่น้ำโขง   แม่น้ำสำคัญ   อาชีพเก็บผลผลิตจากป่า   อาชีพทำไรยาสูบทำรายได้ให้กับเกษตรกรจำนวนมาก   ยาสูบปลูกมากในเขตอำเภอธาตุพนม   อำเภอเรณูนคร   เขตใต้มีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอ   5   อำเภอ   1   กิ่งอำเภอ   คือ   อำเภอเมืองนครพนม   อำเภอธาตุพนม   อำเภอนาแก   อำเภอปลาปาก   อำเภอเรณูนคร   และกิ่งอำเภอวังยาง   มีเทือกเขาภูพาน   เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างอำเภอนาแกกับอำเภอดงหลวง   จังหวัดมุกดาหาร
1.4   ลักษณะภูมิอากาศ
จังหวัดนครพนมเมื่อพิจารณาตามลักษณะลมฟ้าอากาศของประเทศไทย   แบ่งออกได้   3   ฤดู   คือ
ฤดูหนาว   เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม   ถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์   ซึ่งเป็น   ฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ   จังหวัดนครพนมจะได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลง   ของอากาศก่อนจังหวัดอื่น   ฤดูนี้ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือทำให้หนาวเย็นและแห้งแล้ง
ฤดูร้อน   เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม   จะเป็นช่วงว่างของมรสุมอากาศจะร้อนอบอ้าวทั่วไป   เดือนที่ร้อนจัดคือเดือนเมษายน
ฤดูฝน   เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์   ถึงกลางเดือนตุลาคม   เป็นช่วงที่   ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้   เป็นลมร้อนและชื้น   พัดจากมหาสมุทรอินเดียปกคลุมประเทศไทย   ร่องความกดอากาศต่ำที่พาดผ่านภาคใต้จะเลื่อนขึ้นมาถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   ทำให้ฝนตกชุกตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม   ถึงกลางเดือนตุลาคมและฝนจะลดลงอย่างรวดเร็ว   ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมเป็นต้นไป
ลักษณะอากาศทั่วไป   จังหวัดนครพนมอยู่ภายใต้อิทธิพลของมรสุมที่พัดประจำ   2   ชนิดคือ   มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหรือฤดูหนาว   จะมีลมจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ   ซึ่งเป็นลมเย็นและแห้งจากประเทศจีน   และจังหวัดนครพนมจะได้รับอิทธิพลลมนี้ก่อนจังหวัดอื่น ๆ อากาศจะหนาวเย็นจัดและแห้งแล้ง   มรสุมอีกชนิดหนึ่งคือ   มรสุมตะวันตกเฉียงใต้   ซึ่งพัดผ่านมหาสมุทรอินเดียพาเอาไอน้ำและความชื้นมาสู่ประเทศไทย   จังหวัดนครพนม   จะมีฝนตกทั่วไป
อุณหภูมิ   จังหวัดนครพนมเป็นจังหวัดพื้นที่ราบสูง   ด้านตะวันออก   ตะวันตกเหนือ   และใต้   โดยรอบจังหวัดจะเป็นแนวเทือกเขาล้อมรอบ   บางส่วนในพื้นที่เป็นป่าทึบหนาแน่นอากาศจึงค่อนข้างร้อนอบอ้าวในฤดูร้อนและหนาวจัดในฤดูหนาว   อุณหภูมิโดยเฉลี่ยตลอดปี   26.57   องศาเซลเซียส   อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย   18.3   องศาเซลเซียส   อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย   35.8   องศาเซลเซียส   เดือนที่ร้อนที่สุดคือเดือนเมษายน   และในช่วงเวลา   45   ปี   ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน   (ปี   2498-2542)   อุณหภูมิสูงสุดวัดได้   42.00   องศาเซลเซียส   เมื่อวันที่   10   เมษายน   2516   และวันที่   14   เมษายน   2526   ส่วนฤดูหนาววันที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุด   อุณหภูมิต่ำสุดวัดได้   3.1   องศาเซลเซียส   เมื่อวันที่   11   มกราคม   2498   (จังหวัดนครพนม   รายงานโครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการและจัดลำดับความสำคัญ   การลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม   ฉบับสมบูรณ์ : 2539)

ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศจังหวัดนครพนมจะสัมพันธ์กับมวลอากาศและอิทธิพลของลมมรสุมเป็นสำคัญ ในช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นอิทธิพลลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือปกคลุมประเทศไทย   อากาศในจังหวัดจะแห้งแล้งและหนาวเย็นตอนรุ่งเช้าอากาศจะชื้น ความชื้นสัมพัทธ์สูงแต่จะลดลงอย่างรวดเร็วในตอนบ่ายถึงเย็น   ช่วงฤดูร้อนอากาศจะร้อนและแห้งแล้งยิ่งกว่าฤดูหนาว   ความชื้นสัมพัทธ์จะต่ำกว่าโดยเฉพาะในตอนบ่ายถึงเย็นความชื้นสัมพัทธ์จะต่ำมาก  ความชื้นสัมพัทธ์จะสูงสุด   ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดปี   ประมาณ 74.66 เปอร์เซ็นต์   ความชื้นสัมพัทธ์สูงสุดเฉลี่ย 85.25   เปอร์เซ็นต์   และความชื้นสัมพัทธ์ต่ำสุดเฉลี่ย 37.33 เปอร์เซ็นต์   ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำสุดจะอยู่ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม
ฝน  ปริมาณน้ำฝนของจังหวัดนครพนม   มีมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือมากที่สุดในประเทศไทย ยกเว้นภาคตะวันออกและภาคใต้เท่านั้น   ในรอบ 45   ปี   ทีผ่านมา (ปี 2498-2542) ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปี ประมาณ 2,222.5 มม. มีฝนตกเฉลี่ย   140 วัน   ต่อปี ใน   45 ปี ดังกล่าวฝนตกหนักที่สุดจะพบในปี 2504   ปริมาณน้ำฝน 2836.7   มม. ปี 2533 ปริมาณน้ำฝน 2975.0 มม. ปี 2541   ปริมาณน้ำฝน 1601.3 มม.   ปริมาณน้ำฝนตกที่จังหวัดนครพนมนับได้ว่าชุกที่สุดทำให้มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของจังหวัดทำให้แตกต่างจากจังหวัดอื่น  ๆ เช่น   ในเดือนที่พระธาตุพนมล้มในเดือนสิงหาคม 2518 เดือนนี้จะมีพายุเคลื่อนผ่านและฝนตกหนักตลอดเดือน   ปริมาณน้ำฝนเดือนนี้เดือนเดียวมีมากถึง   1232.9 มม. หรือเพียง 9   เดือน ของปี   2542 (ม.ค.-ก.ย.) มีปริมาณน้ำฝน 2390   มม.    แต่ปริมาณน้ำฝนจำนวนมากนี้ จะตกลงมาแล้วหายไป   สังเกตได้จากในช่วง   น้ำในแม่น้ำจะลดลงอย่างรวดเร็วในฤดูหนาวและฤดูแล้ง   ประกอบกับจังหวัดนครพนม ไม่มีเขื่อนหรือชลประทานเก็บกักน้ำย่างพอเพียง
ลมและพายุหมุน   พายุหมุนที่เคลื่อนผ่านจังหวัดนครพนมหรือที่เข้ามาในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   ของประเทศไทยส่วนมากจะเป็นพายุดีเปรสชั่นซึ่งมีกำลังและความรุนแรงไม่มากนัก   แต่จังหวัดแรกที่ได้รับผลกระทบจากพายุฝนหรือ   มีลมแรงไม่ว่าจะเคลื่อนผ่านทางตอนเหนือ กลางหรือใต้   ของประเทศไทย เพราะพายุส่วนมาก เกิดจากจีนใต้ด้านฝั่งทะเลเวียดนาม   ซึ่งห่างจากจังหวัดนครพนม   ประมาณ 200 กม.   ทำให้ฝนตกหนักเกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่   ถนนหรือสะพานชำรุด   ต้นไม้ใหญ่โค่นล้ม   จะเกิดขึ้น ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน