ทรัพยากรธรรมชาติ

2.1   ทรัพยากรธรณี
พื้นที่ในส่วนที่เป็นดิน   ของจังหวัดนครพนม  เป็นที่น่าสนใจหลายประการ   ทั้งส่วนที่เป็นดิน   หินลูกรัง  กรวด  ทราย   ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณในเชิงเศรษฐกิจนำไปสู่การประกอบอาชีพได้   เช่น   ดินที่บ้านกลาง   อำเภอท่าอุเทน   มีผู้กล่าวถึงหรือมีผลงานวิจัยออกมาว่าเป็นดินที่มีคุณภาพสูงสุดสำหรับงานด้านการก่อสร้าง   เป็นต้น   ซึ่งชาวบ้านกลางใช้ดินนี้ปั้นครก   ไห  ภาชนะต่าง ๆ  มาตั้งแต่บรรพบุรุษจนปัจจุบันนี้   เมื่อนำไปเผาแล้ว   เมื่อเคาะจะเสียงดังกังวาน   สีเป็นมัน  คล้ายโลหะ  พื้นที่ดินในจังหวัดนครพนมทั้งหมด   3, 464,061    ไร่   ซึ่งพอจะกล่าวถึงส่วนสำคัญในเรื่องดิน   หิน กรวด ทรายและดินลูกรังได้ดังนี้

ดิน   เนื้อที่ดินทั้งหมดของจังหวัดนครพนมมี   3,464,061   ไร่   แบ่งได้   ดังนี้
พื้นที่ภูเขา      88,476  ไร่
พื้นที่อยู่อาศัย      55,526  ไร่
พื้นที่น้ำ                 121,899  ไร่
พื้นที่หินโผล่            815  ไร่
พื้นที่สันริมน้ำ      127,815  ไร่
ดินดอน   แยกออกเป็น
ดินลูกรัง                1,046,881  ไร่
ดินทราย                    16,702  ไร่
ดินร่วน                     433,232  ไร่
ดินตื้น                        24,220  ไร่
ดินที่ราบต่ำ  (ทำนา)   แยกออกเป็น
ดินลูกรัง                  357,479  ไร่
ดินทราย      93,139  ไร่
ดินร่วน      483,883  ไร่
ดินเหนียว      531,300  ไร่

ลักษณะดินและการใช้ประโยชน์

       ลักษณะดินจากการศึกษาและวิเคราะห์คุณสมบัติของดินในจังหวัดนครพนมโดยพิจารณาจากคุณภาพของที่ดินที่มีคุณสมบัติตอบสนองต่อความต้องการของพืชและสัตว์ความต้องการของการจัดหมวดหมู่   เป็นหน่วยที่ดิน   ทำให้สามารถจัดหมวดหมู่ของหน่วยที่ดินในจังหวัดนครพนมได้   20  หน่วยที่ดิน   ดังนี้

หน่วยที่ดินที่  1    มีเนื้อที่ประมาณ  69,569   ไร่  หรือร้อยละ   2.02   ของเนื้อที่ทั้งจังหวัด    มีลักษณะสภาพพื้นที่ราบเรียบ   ความลาดชัน   0-2   เปอร์เซ็นต์   อยู่เหนือระดับน้ำทะเลปานกลางเฉลี่ย    120-150   เมตร   เป็นดินลึก   การระบายน้ำของดินค่อนข้างเลว   เนื้อดินบนมีเนื้อดินเป็นร่วนเหนียว  หรือดินร่วนเหนียวปนทรายแป้ง   ปฏิกิริยาดินอยู่ระหว่าง   6.5-7.5  เนื้อดินล่างมีเนื้อดินเหนียวหรือ   ดินเหนียวปนทรายแป้ง    ปฏิกิริยาดินยู่ระหว่าง  6.5-8.0  ความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูง   ที่ดินในหน่วยนี้มีศักยภาพในการผลิตค่อนข้างสูง  มีจ้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ที่ดิน   คือ   ในช่วงฤดูฝนจะมีน้ำขังบริเวณหนึ่งประมาณ   3-4   เดือน   การใช้ประโยชน์ทีดินส่วนใหญ่พบกระจายอยู่ตามบริเวณฝั่งตะวันออกของจังหวัด    ติดแนวฝั่งแม่น้ำโขงตลอดแนวทิศเหนือ   จรดทิศใต้

หน่วยที่ดินที่   2   มีเนื้อที่ประมาณ  18,796   ไร่   หรือร้อยละ   0.55   ของเนื้อที่จังหวัดมีลักษณะทางกายภาพและความอุดมสมบูรณ์เหมือนหน่วยที่ดินที่   1  แต่หน่วยที่ดินนี้อยู่ในเขตชลประทาน   ทำให้ที่ดินในช่วงฤดูฝนใช้ทำนาปี  หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวนาปี   แล้วทำการปลูกข้าวนาปรัง   หรือพืชไร่พวกถั่วต่าง  ๆ   ยาสูบและพืชผักต่าง  ๆ  ซึ่งในการปลูกพืชไร่หรือพืชผัก   ที่ดินนี้มีข้อจำกัดเกี่ยวกับการระบายน้ำของดินค่อนข้างเลว   หน่วยที่ดินนี้ส่วนใหญ่จะพบกระจายอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดตลอดแนวฝั่งแม่น้ำโขง

หน่วยที่ดินที่  3   มีเนื้อที่ประมาณ   255,765   ไร่   หรือร้อยละ   7.42   ของเนื้อที่จังหวัด   มีลักษณะสภาพพื้นที่ราบเรียบ   ความลาดชันของพื้นที่   0-2   เปอร์เซ็นต์    อยู่เหนือระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ   120-160   เมตร  เป็นดินลึก   การระบายน้ำของดินเลว    เนื้อดินบนมีเนื้อดินเป็นดินร่วนเหนียวหรือดินร่วนเหนียวปนทรายแป้ง   ปฏิกิริยาดินอยู่ระหว่าง   5.0-7.0   เนื้อดินล่าง   มีเนื้อดินเป็นดินเหนียวหรือดินนี้มีศักยภาพในการผลิตปานกลาง   ซึ่งมีข้อจำกัดในด้านความอุดมสมบูรณ์   ซึ่งสามารถแก้ไขได้ในระดับวิธีการจัดการ   แบบธรรมดาโดยไม่ต้องลงทุนสูงการใช้ประโยชน์ที่ดินส่วนใหญ่ในช่วงฤดูฝนจะใช้ในการทำนา    หน่วยที่ดินนี้จะพบเป็นพื้นที่ค่อนข้างใหญ่   อยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอนาแก

หน่วยที่อินที่  4   มีเนื้อที่ประมาณ   41,397   ไร่   หรือร้อยละ   1.20  ของเนื้อที่จังหวัด   มีลักษณะทางกายภาพของพื้นที่และความอุดมสมบูรณ์เหมือนหน่วยที่ดินที่   3   แต่หน่วยที่ดินนี้อยู่ในเขตชลแระทายทำให้มีศักยภาพในการผลิตดีกว่าหน่วยที่ดินที่   3  นอกจากนี้ในฤดูที่สองหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้วยังสามารถนำพื้นที่มาใช้ประโยชน์ในการทำนาปรัง   หรือ   ปลูกพืชไร่  เช่น  ถั่วต่าง  ๆ  และพวกพืชผักต่าง ๆ  แต่การปลูกพืชไร่จะมีข้อจำกัด   เกี่ยวกับการระบายน้ำของดิน   การใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน   ส่วนในฤดูแล้งจะใช้ในการทำนาปรัง   หรือ  ปลูกพืชไร่พวกถั่วต่าง  ๆ  ยาสูบ  และพืชผักต่าง ๆ  หน่วยที่ดินนี้พบกระจายอยู่ตามริมแม่น้ำโขงทางทิศจะวันออกของจังหวัด

หน่วยที่ดินที่  5     มีเนื้อที่ประมาณ   112,189   ไร่   หรือร้อยละ    3.26  ของเนื้อที่จังหวัด   มีลักษณะพื้นที่ราบเรียบ   มีความลาดชัน   1-2   เปอร์เซ็นต์  เป็นดินลึกการระบายน้ำค่อนข้างเลว   เนื้อดินเป็นดินร่วน   ดินร่วนปนทรายแป้ง   ส่วนดินล่างมีเนื้อดินเหนียวหรือดินเหนียวปนทรายแป้ง   ปฏิกิริยาของดิน   4.5-5.0   ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ   หน่วยดินนี้มีข้อจำกัด   ในการใช้ประโยชน์คือ   ในฤดูฝนจะถูกน้ำท่วมสูงเป็นระยะเวลานานยากต่อการแก้ไขปรับปรุงซึ่งในการที่จะแก้ไขปรับปรุงจะต้องลงทุนสูงการใช้ประโยชน์ในปัจจุบันยังไม่มีสภาพพื้นที่มีพืชพรรณที่อยู่ธรรมชาติเป็นพวกไผ่    และพืชพรรณไม้อื่นๆ  หน่วยที่ดินนี้พบเป็นบริเวณกว้างทางตอนใต้ของจังหวัดเป็นแนวยาวอยู่ในเขตอำเภอนาแก   อำเภอธาตุพนม   และอำเภอปลาปากนอกนั้นพบกระจายอยู่ในเขตอำเภอเมือง   อำเภอบ้านแพง   และอำเภอโพนสวรรค์

หน่วยที่ดินที่  6    มีเนื้อที่ประมาณ  206,940   ไร่   หรือร้อยละ   6.01  ของเนื้อที่จังหวัด   มีลักษณะสภาพพื้นที่ราบเรียบ   ความลาดชันของพื้นที่   0-2   เปอร์เซ็นต์    อยู่เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง   น้อยกว่า   120   เมตร   เป็นดินเล็ก   การระบายน้ำของดินเลวมาก   เนื้อดินบนมีเนื้อดินเป็นดินร่วนปนเหนียวหรือดินร่วนเหนียวปนทรายแป้ง  ปฏิกิริยาของดินอยู่ระหว่าง   4.5-5.0   หน่วย   ดินนี้มีข้อจำกัดเกี่ยวกับน้ำท่วมขังสูงประมาณ   1-2   เมตร  นานประมาณ   2-3  เดือน  เป็นประจำทุกปี   ปละพบหน่วยที่ดินนี้เป็นพื้นที่ใหญ่ในเขตทางทิศตะวันตกของอำเภอศรีสงครามและทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอบ้านแพง   สภาพการใช้ทีดินในปัจจุบันในช่วงตั้งแต่ปี   2529     เป็นต้นมาเกษตรกรเริ่มทำนาปีกันบ้างเนื่องจากปริมาณน้ำที่ท่วมไม่รุนแรงเหมือนแต่ก่อนซึ่งในการปรับปรุงแก้ไขเพื่อนำที่ดินนี้มาใช้ในการปลูกข้าวจะต้องใช้การลงทุนที่สูงส่วนในฤดูแล้งจะมีการใช้พื้นในการทำนาก็เฉพาะบางบริเวณ   ที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำตามธรรมชาติ  เช่น   หนอง   บึง   ห้วย   เป็นต้น

หน่วยที่ดินที่  7    มีเนื้อที่ประมาณ   37,774   ไร่   หรือร้อยละ   1.10   ของเนื้อที่จังหวัด   หน่วยที่ดินนี้มีสภาพพื้นที่การเกิดและความอุดมสมบูรณ์คล้ายกับหน่วยดินที่  6  แต่มีความแตกต่างในด้านความรุนแรงของของน้ำท่วมมีไม่มากเท่าหน่วยที่ดินที่   6  สภาพการใช้ประโยชน์ปัจจุบันเกษตรกรสามารถทำนาปีได้   พันธ์ที่ใช้ส่วนใหญ่ข้าวเหนี่ยว  กข.  6  และข้าวเจ้าหอมมะลิหน่วยที่ดินนี้พบบริเวณทิศเหนือ   อำเภอนาหว้า   และทิศตะวันตกของอำเภอศรีสงคราม

หน่วยที่ดินที่  8   มีเนื้อที่ประมาณ   413,472   ไร่    หรือ  ร้อยละ   12.00   ของเนื้อของจังหวัด   มีลักษณะสภาพพื้นที่ราบเรียบ   ความลาดชัน   0-3   เปอร์เซ็นต์   อยู่เหนือระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ   120-150    เมตร  เป็นดินลึก  มีการระบายน้ำเลว   เนื้อดินบนมีเนื้อดินเป็นทราย   คือ  ดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย   ปฏิกิริยาของดินอยู่ระหว่าง   5.5-6.0  ส่วนดินล่างมีเนื้อดินเป็นดินร่วนเหนียวปนทรายหรือดินเหนียวปนทราย    ปฏิกิริยาของดินอยู่ระหว่าง   5.5-5.5  บางแห่งจะพบสีแดงของศิลาแลงอ่อน   ในปริมาณ   5-50  เปอร์เซ็นต์  โดยปริมาตร  ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ   การใช้ประโยชน์ที่ดินในหน่วยนี้  ส่วนใหญ่ในการปลูกข้าว   ปัญหาของหน่วยที่ดินนี้นอกจากเรื่องความอุดมสมบูรณ์อุ้มน้ำปานกลาง   เนื่องจากเนื้อดินค่อนข้างเป็นทราย   สภาพการใช้ที่ดินในปัจจุบันส่วนใหญ่  ใช้ในการทำนาข้าวโดยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก  ที่ดินในหน่วยนี้พบเป็นพื้นที่บริเวณกว้างในเขตอำเภอเรณูนครทางตอนเหนือของอำเภอธาตุพนม    ทางทิศใต้ของอำเภอเมือง   และทางทิศตะวันตกของอำเภอนาหว้า

หน่วยที่ดินที่  9  มีเมื้อที่ประมาณ   13,225   ไร่   หรือร้อยละ  0.38   ของเนื้อที่จังหวัด   หน่วยที่ดินนี้มีสภาพทางกายภาพ    การเกิดและความอุดมสมบูรณ์เหมือนกับที่  8  แต่แตกต่างกันที่หน่วยที่ดินที่   9     อยู่ในเขตชลประทาน   ทำให้ที่ดินในหน่วยนี้มีศักยภาพในการผลิตสูงกว่าหน่วยที่ดินที่   8   นอกจากนี้ในช่วงฤดูแล้งยังสามารถทำนาปรังหรือปลูกพืชไร่จำพวกถั่วต่าง ๆ  หรือพืชผัก   เป็นต้น   การใช้ประโยชน์ในหน่วยที่ดินส่วนใหญ่ในช่วงฤดูฝนจะทำนาปีเป็นหลัก  หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้วทำการปลูกข้าวนาปรัง   หรือพืชไร่จำพวกถั่วเหลือง   ยาสูบ   และพืชผักต่าง ๆ  หน่วยดินนี้พบแถบบริเวณที่ดินติดลำน้ำก่ำใกล้อำเภอนาหว้า

หน่วยที่ดินที่  10   มีเนื้อที่ประมาณ  243,445   ไร่  หรือร้อยละ   7.07  ของเนื้อที่จังหวัด   มีลักษณะสภาพพื้นที่ราบเรียบ   ความลาดชันของพื้นที่   0-2  เปอร์เซ็นต์อยู่เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง   ประมาณ   120-150   เมตร   ลักษณะจะแตกต่างจากหน่วยที่ดินที่  8  และ   9  คือ  จะมีพวกเศษหินหรือลูกรังในชั้นดินระดับตื้นมีการระบายน้ำเลวดินบนมีเนื้อดินเป็นดินร่วน  หรือดินทราย   ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง   ประมาณ  5.0-6.5  ดินล่างมีเนื้อดินเป็นดินร่วนเหนียวปนศิลาแลงหรือดินเหนียวปนทรายปนกรวด   ค่าความเป็นกรดเป็นด่างประมาณ   5.0-6.5    ความอุดมสมบูรณ์ต่ำที่ดินในหน่วยนี้พบกระจายอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอนาแก    ทางทิศใต้ของอำปลาปาก  ทิศใต้และทิศตะวันออกของอำเภอเมืองใกล้กับสนามบินนครพนมและบริเวณพื้นที่รอบ ๆ  ใกล้กับอำเภอนาหว้านอกนั้นพบกระจายอยู่ในเขตอำเภอบ้านแพงและอำเภอโพนสวรรค์   การใช้ประโยชน์ของที่ดินในหน่วยนี้ส่วนใหญ่ใช้ในการปลูกข้าว    การใช้ดินในปัจจุบัน   ปลูกข้าวนาปี   อาศัยน้ำฝน   ปัญหาของดินในหน่วยนี้   คือ  ดินมีลูกรังปะปนอยู่ในชั้นดินมาก   ทำให้ยากต่อการไถพรวนและมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ  จึงควรมีการปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพของดินให้ดีขึ้น   โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และพันธ์และข้าวที่ปลูกยาสูบพันธุ์เตอร์กิส   หรือแตงโม

หน่วยที่ดินที่  11    มีเนื้อที่ประมาณ  6,477  ไร่   หรือร้อยละ   0.19   ของเนื้อที่จังหวัด   ลักษณะของที่ดินในหน่วยนี้จะมีการปะปนกันของสภาพพื้นที่สองลักษณะ   การเกิดและความอุดมสมบูรณ์เหมือนกับหน่วยที่ดินที่  10  แต่แตกต่างที่มีศักยภาพในการผลิตดีกว่า   เนื่องจากอยู่ในเขตชลประทาน   นอกจากนี้ในช่วงฤดูแล้งยังสามารถทำนาปรังได้หรือปลูกพืชไร่พวกถั่วและพืชผักต่าง ๆ  ได้  ที่ดินในหน่วยนี้   พบบริเวณใกล้ ๆ  กับอำเภอนาหว้าและบริเวณที่ติดกับบริเวณที่ติดกับอ่างเก็บน้ำห้วยแคน   ตำบลหนองฮี   อำเภอปลาปาก   พื้นที่ส่วนใหญ่เหล่านี้ใช้ในการปลูกข้าวนาปี   ส่วนในช่วยฤดูแล้งจะทำการเพาะปลูกยาสูบพันธ์เตอร์กิส   หรือแตงโม

หน่วยที่ดินที่  12   มีเนื้อที่ประมาณ  137,190   ไร่   หรือร้อยละ  0.91   ของเนื้อที่จังหวัด   ลักษณะของที่ดินในหน่วยนี้จะมีการปะปนกันของสภาพพื้นที่สองลักกษณะ   คือที่สภาพที่ลุ่มปะปนกับสภาพที่ดอน   เนื่องจากข้อจำกัดของมาตราส่วนของแผนที่   จึงไม่สามารถแยกที่ลุ่มออกจากทีดอนได้  ซึ่งในบริเวณที่ลุ่มจะมีลักษณะสภาพพื้นที่ที่เป็นลูกคลื่นลอนลาดถึงลูกคลื่นลอนชันมีความลาดชันมีความลาดชัน   2-8   เปอร์เซ็นต์   อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ    150-180   เมตร  ซึ่งลักษณะทางกายภาพ   และความอุดมสมบูรณ์  ดูรายละเอียดได้จากหน่วยที่ดินที่   19  หน่วยที่ดินที่  12  จะพบเป็นบริเวณใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอปลาปาก    และทางทิศเหนือของอำเภอโพนสวรรค์  การใช้ประโยชน์ที่ดินส่วนใหญ่  ใช้ทำนาบางบริเวณยังคงสภาพเป็นป่าอยู่

หน่วยที่ดินที่  13    มีเนื้อที่ประมาณ 4,937   ไร่  หรือร้อยละ   0.14   ของเนื้อที่ของจังหวัด   ลักษณะของดินในหน่วยที่ดินนี้คล้ายกับหน่วยที่ดินที่  6  และ  8   แต่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับเป็นพื้นที่ที่ดินเค็มซึ่งบริเวณนี้พบทั้งดินเค็มมาก  (มีคราบเกลือกว่า   50%   ของพื้นที่)   และที่ดินเค็มปานกลาง  (มีคราบเกลือ  10-50 %  ของพื้นที่ )  อยู่ในเขตอำเภอนาหว้า  และอำเภอนาแกส่วนบริเวณที่มีดินเค็มนี้เป็นอุปสรรคต่อการปลูกพืชทนเค็มไม่ได้   การใช้ประโยชน์จึงควรมีการปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพของดินให้ดีขึ้น  โดยใช้ปุ๋ยอินทรียวัตถุและวัสดุปรับปรุงดินบางชนิดมาใช้   เช่น   ยิบซัม  ปูน  แกลบ   เพื่อคลุมดินหรือปลูกพืชคลุมดิน   ไม่ปล่อยหน้าดินให้ว่างเปล่าเพื่อป้องกันไม่ให้เหลือจากดินล่างขึ้นมาสะสมบนผิวดิน   นอกจากนี้ควรใช้พันธุ์ที่ทนเค็มปลูก  เช่น  ข้าวพันธ์ข้าวดอกมะลิ   105  ข้าวพันธุ์  กข.  6  ข้าวพันธ์  กข.  8  หรือกข.  15  และข้าวเหนียวสันป่าตอง

หน่วยที่ดินที่   14   มีเนื้อที่ประมาณ   13,769   ไร่   หรือร้อยละ   0.40   ของเนื้อที่จังหวัด   มีลักษณะสภาพพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบจนถึงลูกคลื่นลอนลาด   ความลาดชันของพื้นที่ 1-5   เปอร์เซ็นต์เป็นดินลึก   การระบายน้ำดีถึงดีปานกลางอยู่เหนือระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ   130-150   เมตร  เนื้อดินบนมีเนื้อดินเป็นดินร่วน   ดินร่วนเหนียว   หรือดินร่วนเหนียวปนทรายแป้งปฏิกิริยาดินอยู่ระหว่าง   6.0-7.0   เนื้อดินล่างมีเนื้อดินเป็นดินเหนียว   ดินร่วนเหนียวปนทรายแป้งบางแห่งอาจพบศิลาแลงอ่อน   ปฏิกิริยาดินอยู่ระหว่าง   6.5-7.0   ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำถึงปานกลาง   ที่ดินในหน่วยนี้มีศักยภาพในการผลิตปานกลางถึงต่ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำสวนผัก   สวนผลไม้   และพืชไร่   แต่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับการเสี่ยงต่อการขาดน้ำในฤดูเพาะปลูก   ถ้ามีระบบชลประทานช่วยและมีการจัดการที่ดีจะทำให้ปลูกพืชหมุนเวียนได้ตลอดปี   การใช้ประโยชน์ในปัจจุบันนำมาใช้ในการปลูก   มะเขือเทศ   ยาสูบ   ข้าวโพดหวานและปอกระเจา   ที่ดินในหน่วยนี้พบเป็นบริเวณแคบ ๆ ตามริมฝั่งแม่น้ำโขง   ติดกับอำเภอบ้านแพง   และทางตอนใต้ของอำเภอเมืองบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง

หน่วยที่ดินที่  15  มีเนื้อที่ประมาณ  3,850  ไร่  หรือร้อยละ   0.11   ของเนื้อที่จังหวัด   มีลักษณะสภาพพื้นที่แบบค่อนข้างราบเรียบ   ความลาดชันของพื้นที่   1-3  เปอร์เซ็นต์  การระบายน้ำดี   เป็นดินลึกอยู่เหนือระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ  140  เมตร  มีเนื้อดินเป็นดินร่วนหรือดินร่วนปนทรายหรือดินร่วนปนทรายแป้ง    ปฏิกิริยาดินอยู่ระหว่าง   5.0-7.0   ส่วนเนื้อดินล่างเป็นดินร่วน   ดินร่วนปนทรายหรือดินร่วนเหนียว   บางแห่งอาจพบเศษไมก้า   ปฏิกิริยาดินอยู่ระหว่าง   6.5-7.5   ความอุดมสมบูรณ์ของดินปานกลางที่ดินมีศักยภาพในการให้ผลผลิตปานกลางเนื่องจากมีข้อจำกัดเกี่ยวกับเนื้อดินค่อนข้างเป็นทราย   การใช้ประโยชน์ที่ดินในหน่วยนี้พบว่าส่วนใหญ่ใช้ในการปลูกพริก   หอมแดง   กระเทียม   ยาสูบ   และมะเขือเทศ   บางบริเวณมีการสูบน้ำจากหนองน้ำมาใช้เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง   ดินในหน่วยนี้พบบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงในเขตอำเภอธาตุพนมและอำเภอบ้านแพงบริเวณที่ลำน้ำสงครามบรรจบแม่น้ำโขง

หน่วยที่ดินที่  16   มีเนื้อที่ประมาณ   379,322   ไร่   หรือร้อยละ   11.01   ของเนื้อที่จังหวัด   มีลักษณะสภาพพื้นที่แบบลูกคลื่นลอนลาด   มีความลาดชั้น   1-5 เปอร์เซ็นต์   อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ   150-200   เมตร   ลักษณะดินเป็นดินลึกการระบายของน้ำดีดินบนมีเนื้อดินเป็นดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย   ปฏิกิริยาดินอยู่ระหว่าง   5.0-6.0   ดินล่างมีเนื้อดินเป็นดินร่วนเหนียวปนทรายหรือดินร่วนเหนียว   ปฏิกิริยาของดินอยู่ระหว่าง   4.5-5.5   ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ   ดินในหน่วยนี้จะพบเป็นพื้นที่บริเวณกว้างในเขตอำเภอศรีสงคราม   อำเภอท่าอุเทนและทางตอนใต้ในเขตอำเภอนาแก   นอกนั้นอยู่กระจายทั่วทั้งจังหวัด   การใช้ประโยชน์ส่วนใหญ่ใช้ในการปลูกมันสำปะหลัง   สับปะรด   บางส่วนยังคงสภาพป่าธรรมชาติอยู่ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินในหน่วยนี้   คือ   มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำดินมักขาดน้ำเพราะส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก

หน่วยที่ดินที่   17   มีเนื้อที่ประมาณ   11,731   ไร่   หรือร้อยละ   0.34   ของเนื้อที่จังหวัด   มีลักษณะสภาพพื้นที่แบบลูกคลื่นลอนลาด   อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง   ประมาณ   150   เมตร   เป็นดินลึก   การระบายน้ำค่อนข้างดีเกินไป   ดินบนมีเนื้อดินเป็นดินร่วนปนทราย   หรือดินทราย   ปฏิกิริยาของดินอยู่ระหว่าง   6.0-7.0   ดินล่างมีเนื้อดินเป็นดินร่วนปนทราย   หรือดินทราย   ปฏิกิริยาของดินอยู่ระหว่าง   5.0-6.5   ความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำมาก   คุณสมบัติทางกายภาพของดินไม่ดี   คือ   มีเนื้อดินเป็นทรายจัดทำให้มีอินทรียวัตถุต่ำ   การใช้ประโยชน์ของที่ดินในหน่วยนี้   ส่วนใหญ่ใช้ในการปลูกมันสำปะหลัง   บางบริเวณยังคงสภาพป่าธรรมชาติอยู่   การปรับปรุงควรเน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อปรับโครงสร้างของดิน   บริเวณที่พบดินในหน่วยนี้เป็นบริเวณพื้นที่ใหญ่   คือ   บริเวณทางตอนใต้ของอำเภอบ้างแพง   นอกนั้นเป็นบริเวณพื้นที่เล็ก ๆ ในเขตอำเภอศรีสงคราม   และอำเภอปลาปาก

หน่วยที่ดินที่   18   มีเนื้อที่ประมาณ   75,547   ไร่   หรือร้อยละ   2.19   ของเนื้อที่จังหวัด   มีลักษณะพื้นที่แบบลูกคลื่นลอนลาดอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ   150   เมตร   เป็นดินลึก   การระบายน้ำค่อนข้างดีถึงมากเกินไป   ดินบนมีเนื้อดินเป็นดินร่วนปนทราย   หรือดินทรายปนดินร่วน   ปฏิกิริยาของดินอยู่ระหว่าง   5.5-6.5   ดินล่างมีเนื้อดินเป็นดินร่วนปนทรายหรือดินทรายปนดินร่วน   และมีชั้นการสะสมอินทรียวัตถุหรือสารประกอบของเหล็กที่อัดตัวค่อนข้างแน่น   ปฏิกิริยาของดินอยู่ระหว่าง   5.5-6.0   ความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำมากปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ในหน่วยนี้คือ   ดินเป็นดินทรายมีคุณสมบัติไม่เก็บกักน้ำ   และธาตุอาหารและมีชั้นดานแข็งอยู่ชั้นล่าง   ส่วนใหญ่พบที่ระดับความลึก   50-80   เซนติเมตร   ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการหยั่งของรากพืชที่มีรากแก้ว   นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการแช่ขังของน้ำในช่วงฤดูฝนเพราะชั้นดานแข็งเป็นที่เก็บกักน้ำทำให้รากพืชหลายชนิดอาจถูกน้ำแช่ขังเน่าตายได้บริเวณที่พบดินในหน่วยนี้เป็นบริเวณพื้นที่ใหญ่   คือ   ทางตอนใต้ของอำเภอนาหว้า   ทางทิศตะวันออกของอำเภอศรีสงครา   และทางตอนกลางของอำเภอบ้านแพง   นอกนั้นอยู่กระจายในเขตอำเภอท่าอุเทน   และอำเภอเมือง   การใช้ประโยชน์ปัจจุบัน   ปลูกมันสำปะหลัง   และป่าธรรมชาติ

หน่วยที่ดินที่   19   มีเนื้อที่ประมาณ   966,806   ไร่   หรือร้อยละ   28.06   ของเนื้อที่จังหวัด   มีสภาพพื้นที่แบบลูกคลื่นลอนลาดถึงลูกคลื่นลอนชัน   ความลาดชันประมาณ   2-8   เปอร์เซ็นต์   อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ   150-180   เมตร   เป็นดินตื่นการระบายน้ำดี   ดินบนมีเนื้อดินเป็นดินร่วนหรือดินร่วนปนกรวด   ปฏิกิริยาของดินอยู่ระหว่าง   5.0-6.5   ดินชั้นล่าง   มีเนื้อดินเป็นดินเหนียวปนกรวดหรือศิลาแลง   ดินร่วนปนทรายปนกรวดปฏิกิริยาของดินอยู่ระหว่าง   4.5-5.5   ความอุดมสมบูรณ์ของดินตามธรรมชาติต่ำถึงปานกลาง   บางบริเวณของหน่วยที่ดินนี้   พบแผ่นศิลาแลง   ที่จับตัวเป็นแผ่นโผล่อยู่บนหน้าดินทำให้เป็นอุปสรรคในการเกษตรกรรม   สภาพพื้นที่ตามธรรมชาติเป็นเต็งรัง   บางแห่งมีการนำดินมาใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชไร่   เช่น   มันสำปะหลัง   สับปะรด   มะม่วงหิมพานต์   หน่วยที่ดินนี้พบเป็นพื้นที่ใหญ่ทางตอนเหนือของจังหวัด   ตอนกลางของจังหวัดในเขตอำเภอโพนสวรรค์และทางตะวันตกเฉียงใต้ในเขตอำเภอเมือง   อำเภอปลาปาก   อำเภอเรณูนคร   รวมทั้งอำเภอนาแก   ซึ่งในสภาพของหน่วยที่ดินนี้   จะเป็นอุปสรรคต่อการปลูกพืชเป็นอย่างมาก   โดยเฉพาะพืชยืนต้นเพราะเป็นอุปสรรคต่อการหยั่งรากลึกได้   ดังนั้น   การใช้ประโยชน์ที่ดินในหน่วยนี้ควรจะเก็บไว้เป็นป่าธรรมชาติหรือปรับปรุงเป็นสวนป่า   ส่วนบริเวณใดที่มีการหักร้างถางพงแล้งอาจปรับปรุงเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์เป็นการอนุรักษ์ดิน   และป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน

หน่วยที่ดินที่   20   มีเนื้อที่ประมาณ   66,761   ไร่   หรือร้อยละ   1-94   ของเนื้อที่จังหวัด   เป็นบริเวณที่เป็นเนินเขาสูง   ภูเขาสูง   หรือบริเวณที่มีหินโผล่ที่มีศักยภาพในการเกษตรต่ำซึ่งส่วนใหญ่จะมีความลาดชันมากกว่า   35   เปอร์เซ็นต์   อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง   ประมาณ   200-450   เมตร   พื้นที่ของหน่วยที่ดินนี้พบกระจายอยู่ทางตอนเหนือ   และตอนใต้   ของจังหวัดสภาพทั่วไปเป็นป่าธรรมชาติ   เป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติภูพาน   และเขตป่าสงวนแห่งชาติบริเวณเหล่านี้จึงควรสงวนไว้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ
การใช้ที่ดิน   จังหวัดนครพนมใช้ที่ดินยังมีปัญหาอยู่มาก   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ที่ดินทางการเกษตร   ซึ่งมีการใช้ที่ดินที่มีลักษณะไม่เหมาะสมสอดคล้องกับการเพาะปลูก   การใช้ที่ดินของจังหวัดนครพนม   ขณะนี้เหลือเป็นที่ป่าไม้ไม่ถึงร้อยละ   15   เนื่องจากการบุกรุกเพื่อทำกินในป่าสงวนแห่งชาติ   (ซึ่งเสื่อมโทรมแล้วเป็นส่วนใหญ่)   และจากการที่รัฐมีนโยบายให้สิทธิทำกินแก่เกษตรกร   ในปีเพาะปลูก   2535/2536   มีเนื้อที่ถือครองเพื่อการเกษตรไม่ถึงร้อยละ   50   ของพื้นที่ของจังหวัด   คือประมาณ   1,645,830   ไร่   เป็นที่นา   1,184,462   ไร่   ที่ดินปลูกพืชไร่   334,564   ไร่   ปลูกไม้ผล   95,812   ไร่   และเป็นที่ปลูกพืชผักและไม้ดอก   30,992   ไร่   เพิ่มขึ้นถึงกว่า   5   เท่าตัวในช่วง   10   ปีที่ผ่านมา   ในขณะที่การปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้นตลอดจนพืชไร่เพิ่มขึ้น   2-3   เท่าตัว   แต่การทำนายังคงรักษาระดับอยู่ใกล้เคียงกับเมื่อ   10   ปีที่แล้ว

        หินกรวดและทราย   ส่วนที่เป็นหินเป็นภูเขา   จังหวัดนครพนมมีเพียงเป็นส่วนน้อยในเขตเหนือ   ในพื้นที่อำเภอบ้านแพง   และเขตใต้ในพื้นที่อำเภอนาแก   ยังไม่นำมาใช้ประโยชน์อะไรแต่จะมีหินทราย   หรือหินดานในดินชั้นล่างที่โผล่ขึ้นมา    บางพื้นที่ได้นำมาใช้ในการก่อสร้างทำเขื่อนกั้นน้ำและตลิ่งหรือการก่อสร้างอื่นแต่ไม่มากนัก   กรวดและทรายมีมากในแม่น้ำโขง   ซึ่งมีบริษัทเอกชน   สัมปทานจากทางราชการไปดำเนินการ   ทรายในแม่น้ำโขงมีทั้งทรายหยาบและทรายละเอียด   คุณภาพดีน้ำไปใช้ในการก่อสร้างได้เพียงพอภายในจังหวัด   และส่งไปขายในจังหวัดใกล้เคียงด้วยและกรวดก็มีทั้งก้อนเล็กและก้อนโตสามารถนำใช้แทนหินในการก่อสร้างเพียงพอสำหรับการก่อสร้างภายในจังหวัดและส่งขายในจังหวัดใกล้เคียงเช่นกันทำให้เกิดอาชีพดูดทรายในแม่น้ำโขงไว้ขาย   การขนกรวดทรายไปขายต่างจังหวัด   ทำให้เกิดการชำระของถนนหลายสายเป็นผลเสียต่อการคมนาคมของจังหวัดเช่นเดียวกัน ดินลูกรัง   ดินลูกรังมีอยู่ในบริเวณของจังหวัด   ได้แก่   บริเวณพื้นที่ของอำเภอปลาปาก   และทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอเมืองนครพนมกับบริเวณทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอท่าอุเทน   ดินลูกรังในบริเวณพื้นที่เหล่านี้มีคุณภาพและมีจำนวนมากพอในการก่อสร้างและในเชิงพาณิชย์