ทรัพยากรป่าไม้ – แร่ธาตุ – ทรัพยากรภูเขาและอื่น

ป่าไม้ของจังหวัดนครพนม   จะมีลักษณะแตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่   ไม่มีป่าที่เป็นประเภทเดียวกันเป็นแนวต่อเนื่อง   แต่จะผสมผสานกัน   และสลับเปลี่ยนกันไปไม่แน่นอนซึ่งสภาพป่าไม้สามารถจำแนกออกได้เป็น
ป่าดงดิบแล้ง      เป็นป่าที่จัดอยู่ในมรสุมขึ้น   เป็นป่าประเภทที่กึ่งกลาง   ป่าร้อนชื้น   หรือป่าดงดิบชื้น   และป่าเบญจพรรณ   ป่านี้พบตามหุบเขา   ของทิวเนินเขาเตี้ยจนถึงบริเวณที่สูงราว   1,000   เมตร   และพบตามบริเวณที่ราบบริเวณริมลำธารต่าง ๆ   ในจังหวัดนครพนมพบป่านี้ทางตอนเหนือสุดบริเวณทิวเขาภูลังกาในเขตอำเภอบ้านแพง   และทางทิศใต้บริเวณตามทิวเขาภูพาน   ในเขตอำเภอนาแกพันธุ์ไม้ที่พบอยู่ในป่าดงดิบแล้งจะมีทั้งพวกเขียวชอุ่มตลอดปีและพวกไม้ผลัดใบ   ชนิดไม้ที่สำคัญมีไม้ยาง   ไม้ตะเคียน   ไม้ตะแบก   ไม้มะค่าแต้   ไม้เหียง   เป็นต้น
ป่าแดง   เป็นป่าที่จัดอยู่ในป่ามรสุมแล้ง   โดยทั่วไปป่าแดงจะเกิดตามบริเวณแห้งมาก   เช่น   ดินกรวด   ทราย   หรือลูกรัง   ซึ่งมีธาตุอาหารน้อย   โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณดินส่วนบน   ซึ่งธรรมชาติกัดกร่อนไปมาก   หลายแห่งจะเห็นดินชั้น   ดินลูกรังโผล่ขึ้นมาอยู่บริเวณผิวดิน   การเกิดป่าแดงจะมีสาเหตุจากการกระทำของมนุษย์เป็นส่วนใหญ่   อันเนื่องมาจากการเผาเศษไม้   ใบไม้ในฤดูแล้ง   การทำไร่เลื่อนลอย   รวมทั้งการตัดไม้มากเกิดไป   ซึ่งถ้าการกระทำเหล่านี้   ดำเนินต่อไปในระยะเวลานานหลายปี   ก็จะทำให้ป่าเหล่านี้เสื่อมโทรมลง   และกลายเป็นป่าแคระ   หรือป่าแดงไปในที่สุด   ในจังหวัดนครพนมป่าชนิดนี้   พบมากและมีกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป   ทุกส่วนของจังหวัด   เนื้อที่ป่าแดงที่ติดต่อกันเป็นพื้นที่ใหญ่จะพบทางตอนกลางและตอนใต้ของจังหวัด   พันธุ์ไม้ที่พบในป่าชนิดนี้ได้แก่   ไม้เต็ง   ไม้รัง   ไม้พลวง   ไม้ยาง   และไม้เหียง   เป็นต้น
ป่าเบญจพรรณ   เป็นป่าที่จัดอยู่ในประเภทป่ามรสุมชื้นและ   เป็นป่าที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับป่าดงดิบแล้งและป่าแดง   บ่อยครั้งจะพบป่าเบญจพรรณ   อยู่ในแนวแคบ ๆ  ระหว่างป่าทั้งสองนี้   ต้นไม้ส่วนใหญ่ในป่าเบญจพรรณนี้จะเป็นพวกไม้ผลัดใบ   ทำให้ฤดูแล้งสามารถสังเกตเห็นป่าชนิดนี้ได้ง่าย   เนื่องจากต้นไม้จะทิ้งใบจนเกิดความแตกต่างกับป่าดงดิบแล้งและป่าแดงอย่างชัดเจน   ในจังหวัดนครพนมป่าชนิดนี้ทางตอนใต้ของจังหวัด   พันธุ์ที่พบที่สำคัญได้แก่   ไม้แดง   ไม้ประดู่   ไม้พยุง   บางแห่งมีต้นสักขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ   แต่มีจำนวนไม่มากนัก
สำหรับประเภทของป่าไม้   สามารถแยกได้ดังนี้

ป่าสงวนแห่งชาติ   เป็นป่าที่กรมป่าไม้ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ   มีจำนวน   12   ป่า   รวม   565,360.50   ไร่   หรือร้อยละ   20   ของเนื้อที่จังหวัด  พื้นที่ป่าไม้ที่คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้เป็นป่าถาวรของชาติ   มีจำนวน   8   ป่า   รวม   382,176   ไร่   หรือร้อยละ   11   ของเนื้อที่จังหวัด   ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ของจังหวัดส่วนใหญ่ได้ถูกทำลาย   และบุกรุกจนพื้นที่ป่าลดลงเรื่อย ๆ

ในอดีตป่าไม้ในจังหวัดนครพนม   เป็นป่าไม้ที่มีคุณค่าเป็นอย่างมากมีทั้งป่าคล้ายป่าดงดิบ   มีต้นไม้เนื้อแข็งขนาดใหญ่   ซึ่งมีซากและร่องรอยป่าอยู่หลายแห่ง   ป่าทึบริมน้ำซึ่งเป็นทั้งธัญญาหาร   และสมุนไพรมีไม้นานาพรรณ   ป่าภูเขาเป็นทั้งแหล่งไม้ใช้ประโยชน์การก่อสร้าง   ธัญญาหารและสมุนไพรนานาประการแม้ปัจจุบันก็ยังมีไม้สมุนไพรอยู่เป็นจำนวนมาก   เช่น   ป่าภูลังกาเป็นต้น   นอกจากไม้ป่านานาพรรณที่มีคุณค่าแล้ว   ยังมีสัตว์ป่านานาชนิดอีกจำนวนมากทั้งเก้ง   กวาง   เสือ   หมูป่า   นกตามริมน้ำ   ห้วยหนอง   คลองบึง   แต่ว่าเสียดายที่ประมาณยังย้อนอดีตไป   30-50   ปีมานี้เอง   ป่าไม้ถูกทำลายลงอย่างรวดเร็วด้วยการทำไร่เลื่อนลอย   การจับจองเป็นเจ้าของอย่างถาวร   การค้าไม้ทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าเกิดการกัดเซาะพังทลาย   สูญเสียความสมบูรณ์ทำให้ขาดความหลากหลายทางชีวภาพและเกิดความแห้งแล้งตามมา   เป็นผลกระทบต่อการดำรงชีพของรุ่นลูกหลาน   ต้องลำบากต่อสู้กับภัยธรรมชาติที่เกิดตามมา

 2.4   ทรัพยากรแร่ธาตุ
แร่ธาตุที่สำคัญของจังหวัดนครพนมจากอดีตถึงปัจจุบันพบว่ามีแร่ธาตุจำนวนน้อยที่พบคือ   เกลือสินเธาว์พบอยู่ในชั้นดิน   โดยเฉพาะตามประวัติศาสตร์มีการผลิตเป็นจำนวนมากในเขตลุ่มน้ำสงคราม  เขตอำเภอศรีสงคราม   มีซากเตาเกลืออยู่เป็นจำนวนมาก   นอกจากนี้ตามตำนานเล่าขานของชาวแสก   บ้านอาจสามารถ   อำเภอเมืองนครพนม   มีอาชีพหนึ่งเกิดขึ้นประมาณ   50-100   ปี   ผ่านมาแล้ว   คือ   อาชีพ  “บ้างคำ”   หรือ   อาชีพ   “ร่อนทอง”   ตามลำน้ำโขง   บางตระกูลของชาวแสกก็ยังมีอุปกรณ์อาชีพนี้อยู่จนถึงปัจจุบัน   นอกจากนี้แล้วไม่พบการทำแร่ธาตุอื่น ๆ  ในเขตพื้นที่จังหวัดนครพนม

2.5   ทรัพยากรภูเขาและอื่น ๆ
ทรัพยากรที่น่ากล่าวถึงอีกประการหนึ่งของจังหวัดนครพนม   คือ   ภูเขา   จังหวัดนครพนมมีภูเขาทางซีกเหนือสุดและใต้สุดของจังหวัด   เปรียบเสมือนเป็นหมวก   และรองเท้าทำให้จังหวัดนครพนมเป็นดินแดนที่ศักดิ์สิทธิ์   อุดมสมบูรณ์   ภูลังกาทางซีกเหนือเป็นภูเขาที่อุดมสมบูรณ์ด้วยไม้ป่านานาพรรณ   มีน้ำตกและป่าสมุนไพร   เกจิอาจารย์ไม่ว่าหลวงปู่แหวน   หลวงปู่มั่น   หลวงปู่ฝั้น   หลวงปู่สิม   หลวงปูหล้า   เป็นต้น   ได้อาศัยป่าแห่งนี้เป็นที่อาศัยและที่วิเวกมาแล้วน่าจะได้รักษาไว้เป็นป่าที่ทรงคุณค่าคู่กับจังหวัดตลอดไป   อีกประหนึ่งที่ทุกคนเดินทางมาจังหวัดนครพนมคือได้รับอากาศที่สดชื่นเย็นสบาย   ไม่ร้อนจัดด้วยมีแม่น้ำ   ภูเขาทั้งเหนือใต้และในฝั่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวด้านตะวันออก    มีลมชายฝั่งแม่น้ำโขงตลอดปี   มีทิวทัศน์มีดวงจันทร์และตะวันขึ้นที่สวยงาม