อาชีพของชาวนครพนม Posted in ข้อมูลทั่วไป จากสภาพภูมิศาสตร์และทรัพยากรของจังหวัดนครพนมดังกล่าวแล้วก่อให้เกิด อาชีพสำคัญในพื้นที่ คือ 3.1 เกษตรกรรม จังหวัดนครพนมมีพื้นที่ในการเกษตรกรรมมากจังหวัดหนึ่งเนื่องจากภูมิประเทศที่เหมาะแก่การเกษตร คือ ลักษณะของดินในพื้นที่จังหวัดนครพนมจากโครงสร้างทางธรณีวิทยา เป็นหินชั้นหรือตะกอนของหินที่เกิดการสะสมตัว ในยุคซีโนโซอิคสภาพหน้าดินเป็นดินริมน้ำเก่าและที่ราบน้ำท่วมถึงกับสภาพลานตะดักลำน้ำ สภาพพื้นที่สูงกว่าที่ราบน้ำท่วมถึงในปัจจุบัน สภาพดินเช่นนี้เกิดจากดินที่น้ำพามาทับถมทั้งใหม่และเก่าอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงและลำห้วยต่าง ๆ ลักษณะของตะกอน เป็นดินทราย ดินทรายแป้ง ดินร่วนเหนียวปนทรายแป้ง ดินเหนียวปนทรายแป้งและดินเหนียวทับถมกัน เหมาะแก่การทำนา ปลูกพืชไร่ ไม้ผล และดินอีกประเภทหนึ่งเป็นดินเกิดจากการสลายตัวของหินชนิดต่าง ๆ ได้แก่ หินทราย หินทรายแห้ง หินดินเหนียวและหินทรายปนกรวด สภาพดินที่เหมาะแก่อาชีพการเกษตร จึงมีลักษณะชั้นดินที่มีความเหมาะสมดี (ไม่มีดีมาก) ชั้นดินที่มีความเหมาะสมปานกลางเป็นส่วนใหญ่ ผลผลิตทางการเกษตรจึงค่อนข้างต่ำ และมีชั้นดินที่เหมาะสมสำหรับทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ถาวร เนื้อที่ประมาณครึ่งหนึ่งของจังหวัด ในปี 2540/41 จังหวัดนครพนม มีพื้นที่ประกอบการเกษตร 1,655,322 ไร่ เป็นพื้นที่นา 1,318,502.50 ไร่ พืชไร่ 90,479.75 ไร่ ทำสวนไม้ยืนต้น 63,807 ไร่ พืชผัก 48,064 ไร่ พื้นที่ปลูกไม้อื่น 134,538.50 ไร่ เกษตรกร 91.691 ครัวเรือน การเกษตรของจังหวัดนครพนมจึงเกิดอาชีพต่าง ๆ ขึ้น ดังนี้ การเพาะปลูก ข้าว การผลิต ผลิตได้ปีละ 2 ครั้ง นาปีแหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ที่อำเภอนาแก อำเภอศรีสงคราม อำเภอนาหว้าและอำเภอเมือง ผลผลิตออกมากในเดือนพฤศจิกายน นาปรังแหล่งเพาะปลูก 2540/41 มีพื้นที่เพาะปลูกทั้งสิ้น 1,232,127 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 3.10 ร้อยละ 90 ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวจ้าว เป็นข้าวหอมมะลิ ผลผลิต 419,666 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 7.10 การตลาด เกษตรกรจะนำข้าวขึ้นยังฉางเป็นสิริมงคลตามประเพณี พื้นบ้านจากนั้นจึงนำออกขายตามความจำเป็นที่เหลือจะเก็บไว้บริโภคภายในครอบครัว และไว้ทำพันธุ์ และทยอยออกขายเมื่อเห็นว่าผลผลิตข้าวฤดูใหม่ได้ผลหรือมีความจำเป็นใช้เงิน ในปี 2540 ราคาข้าวเปลือกขายได้อยู่ในระดับสูง เช่น ข้าวหอมมะลิ 8,251 บาท เพิ่มจากปีก่อนร้อยละ 48.67 ยาสูบ การผลิต มีแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญอยู่ที่อำเภอบ้านแพง อำเภอท่าอุเทนและอำเภอธาตุพนม ผลผลิตจะออกมากในเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2540/41 มีพื้นที่เพาะปลูก 24,029 ไร่ เพิ่มจากปีก่อนร้อยละ 28.27 เป็นไปตามโควตาจากส่วนกลาง แต่ผลผลิตได้น้อยไม่เพียงพอกับโควตาจากส่วนกลาง ร้อยละ 10 ทั้งนี้เนื่องจากประสบกับภาวะแห้งแล้งผลผลิตรวม 7,112.32 ตัน การตลาด มีสำนักงานไร่ยาสูบกระทรวงการคลังตั้งอยู่และเป็นผู้ซื้อใบยาสูบ แห้งจากเกษตรกร มีส่วนน้อยที่ขายกับพ่อค้าท้องถิ่นหรือพ่อค้าเร่ การขายทุกปีไม่มีปัญหา ราคารับซื้อเฉลี่ย พันธุ์เบอร์เลย์ กิโลกรัมละ 41.41 บาท พันธุ์เวอร์จินเนีย กิโลกรัมละ 63.99 บาทพันธุ์เตอร์กีส กิโลกรัมละ 43.40 บาท ราคาเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ยางพารา การผลิต ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าจับตามอง จังหวัดนครพนมเริ่มทดลองปลูกประมาณ 5-7 ปีย้อนหลัง คุณภาพที่ผลิตจะอยู่ระหว่างเกรด 34 ซึ่งไม่สู้ทางใต้แต่ก็มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น แหล่งปลูกที่สำคัญอยู่ที่อำเภอนาแก อำเภอศรีสงคราม อำเภอท่าอุเทน ผลผลิตจะออกสู่ตลาดประมาณกลางเดือนเมษายน กลางเดือนมกราคมของปีถัดไป ปี 2540/41 มีพื้นที่ปลูก 21,613 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยว 963 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 300 กิโลกรัม/ไร่ ผลผลิตรวม 294.9 ตัน การตลาด เกษตรกรรมจังหวัดนครพนม มีทางเลือกขาย 2 ทาง คือ พ่อค้าเร่จากตัวจังหวัดเอง และจากจังหวัดมุกดาหาร อุดรธานี หนองคาย และอีกทางคือขายให้กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ส่วนใหญ่จะขายให้กับ สกย. ซึ่งราคาจะสูงกว่าพ่อค้าเร่ ประมาณ 3 บาท การปศุสัตว์ จากสภาพชั้นดินบนของจังหวัดโดยทั่วไปเหมาะแก่การทำทุ่งหญ้าถาวร จากสภาพภูมิศาสตร์ทางตอนเหนือถึงตอนใต้ของจังหวัดมีห้วย แหล่งน้ำปะปนกันที่ราบริมฝั่งหรือที่ดอน จึงเป็นจังหวัดที่น่าจะทำปศุสัตว์ได้ดีที่สุดจังหวัดหนึ่ง จังหวัดนครพนมได้เป็นจังหวัดทดลองจังหวัดเดียวในประเทศไทยในการเลี้ยงกระบือตามโครงการส่งเสริมการเลี้ยงกระบืออย่างพอเพียง ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2543 โครงการนี้จะนำผลไปใช้กับการดำเนินโครงการทำการเกษตรแบบพอเพียงหรือเกษตรทฤษฎีใหม่ อาชีพการปศุสัตว์ของจังหวัดนครพนม ส่วนใหญ่เป็นแบบในครัวเรือน เพื่อใช้งานและการบริโภค อาชีพปศุสัตว์ที่ทำรายได้เป็นอันดับหนึ่งคือโคเนื้อและโคขุน อันดับสองคือ สุกร อันดับสามคือ ไก่ นอกจากการบริโภคภายในจังหวัดแล้วยังส่งออกต่างจังหวัดและต่างประเทศ คือ ลาว เวียดนาม การผลิต การส่งเสริมการผลิตด้านปศุสัตว์หรือสหกรณ์ผู้เลี้ยงสัตว์ของจังหวัดนครพนมได้จัดเป็นกลุ่ม ชมรมแต่ไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงในครัวเรือนหรือเป็นฟาร์มส่วนตัว ในปี 2542 มีเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ทั้งหมด 60,559 คน มีพื้นที่ถือครอง 852,048.50 ไร่ พื้นที่ปลูกหญ้าเหลือพืชอาหารสัตว์ 10,062.00 ไร่ และมีพื้นที่ทุ่งหญ้าสาธารณะ 138,963.00 ไร่ มีสัตว์เลี้ยง 1,463,809 ตัว การตลาด การผลิตเชิงพาณิชย์ ยังมีปริมาณน้อย การขายจึงมีอยู่ภายในจังหวัดและส่งไปต่างจังหวัด เช่น มุกดาหาร สกลนคร มีเพียงบางรายที่ส่งไปลาวและเวียดนาม หรือส่งไปกรุงเทพมหานคร เช่น ที่บ้านโคกก่อง อำเภอเมืองนครพนม มีโรงงานชำแหละลูกหมู ส่งตลาดหมูทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด เป็นต้น นอกจากส่งขายเป็นตัวแล้วยังแปรรูปเป็นหมูยอ หมูหยอง เนื้อแห้ง เนื้อโคขุน ไก่เนื้อและไก่ไข่ การประมง จังหวัดนครพนมขึ้นชื่อว่า เป็นเมืองแห่งอาหารปลาอร่อยเนื่องจากเป็นปลาจากแห่งน้ำตามธรรมชาติ มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน ปลาที่จับได้ตามธรรมชาติ เช่น ปลาเนื้ออ่อน ปลาแข้ ปลาคัง ปลาหน้าหนู ปลารากกล้วย ส่วนปลาที่ส่งเสริมให้เลี้ยงในบ่อในที่นาหรือในกระชัง ได้แก่ ปลาช่อน ปลาดุก ปลานิล เป็นต้น ปริมาณปลาธรรมชาติ และปลาเลี้ยงยังไม่เพียงพอตามสภาพภูมิศาสตร์ก็มีแหล่งน้ำที่น่าจะเพาะเลี้ยงได้ดี การทำป่าไม้ การทำป่าไม้ของจังหวัดนครพนมไม่มีการดำเนินการแปรรูปไม้หรือผลิตภัณฑ์จากไม้ ตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา เนื่องจากป่าไม้และมีการห้ามทำป่าไม้ในพื้นที่ป่าไม้ใช้สอยได้ลดลงเป็นอย่างมาก และยกเลิกสัมปทานป่าไม้และมีการห้ามทำป่าไม้ในพื้นที่เป็นป่าแดงหรือป่าโคก (ป่าเต็งรัง) มีลักษณะแคระแกรนและป่าเบญจพรรณ ไม้มีค่าคือ ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้พลวง ไม้แดง ไม้ตะเคียน ไม้ตะแบก ไม้ตะค่าแต้ ไม้เหียง ไม้พยุง และไม้ปะดู่ จะหนาแน่นในเขตตอนใต้ติดต่อกับจังหวัดมุกดาหารตามแถบเทือกเขาภูพาน พื้นที่ป่าตามกฎกระทรวง มี 698,366.25 ไร่ การจัดป่าสัมปทานเป็นไม้กระยาเลย มี 2 แห่ง พื้นที่ 569,362 ไร่ และถูกยกเลิกไปแล้วเมื่อ (7 มกราคม 2532) ไม้หรือผลิตภัณฑ์จากไม้ส่วนมาก เป็นการนำเข้าจากสาธารรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ส่วนไม้ในพื้นที่จะมีอยู่บ้างก็เป็นการลักลอบทำ ส่วนการส่งเสริมการปลูกไม้ใช้สอยยังไม่กว้างขวางและยังไม่มีผลผลิต ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากไม้หรือจากป่า ภายในจังหวัดจะมีอยู่บ้างเพียงเล็กน้อย เช่น กระติบข้าว กระด้ง ข้อง ตะกร้า หวด ชุดรับแขกไม้ไผ่ ไม้กวาดดอกหญ้า แคน โหวด พิณ เสื่อกก เป็นต้น มูลค่าผลิตภัณฑ์ทั้งจังหวัดสาขาป่าไม้ ในปี 2539 มีมูลค่าเพียง 6,586,230 บาท (สำนักคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจลังคมแห่งชาติ : 2539) 3.2 อุตสาหกรรม จังหวัดนครพนมเป็นจังหวัดที่มีรูปแบบพื้นฐานและโครงการทางเศรษฐกิจผูกพันกับอาชีพเกษตรกรรม ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม คือ การทำนา ทำไร่ ดังนั้น ภาวการณ์ลงทุนด้านอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ จึงเป็นอุตสาหกรรมจากผลิตผลทางการเกษตร โรงงานอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในครอบครัว จึงกระจายอยู่ทั่วไปในอำเภอต่าง ๆ โรงงานอุตสาหกรรม : โรงงานอุตสาหกรรมของจังหวัดนครพนมประเภทได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการ จำนวน 2 และ 3 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2541 มีทั้งสิ้น 281 โรงงาน เงินลงทุน 464,164,437 บาท มีการจ้างงาน 1,681 คน แยกเป็นโรงงานขนาดต่าง ๆ (ไม่รวมโรงสีข้าว) ได้ ดังนี้ – โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (เงินลงทุน 100 ล้านบาทขึ้นไป) มีจำนวน 2 โรงงาน – โรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก (เงินลงทุนไม่เกิน 10 ล้านบาท) มีจำนวน 157 โรงงาน โรงงานอุตสาหกรรมการผลิตผลการเกษตร ที่สำคัญ ได้แก่ โรงงานแปรรูปมะเขือเทศ ที่อำเภอศรีสงคราม เป็นการผลิตมะเขือเทศสด บรรจุกระป๋องใช้เงินทุน 197 ล้านบาท ทำการผลิตในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน สามารถผลิตประมาณ 9,000 ต้นต่อปี โรงงานทะเขือเทศเข้มข้น ที่อำเภอบ้านแพง เป็นโรงงานผลิตน้ำมะเขือเทศเข้มข้นใช้เงินลงทุน 113 ล้านบมท ทำการผลิตในช่วงเดือน พฤศจิกายน-เมษายน สามารถผลิตได้ 50,000 ตันต้น อุตสาหกรรมแปรรูปมะเขือเทศนี้ เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของจังหวัดนครพนม เนื่องจากจังหวัดนครพนมมีสภาพภูมิอากาศเหมาะแก่การเพาะปลูกมะเขือเทศ มะเขือเทศที่ป้อนโรงงานนั้นส่วนหนึ่งโรงงานจะปลูกเอง มีพื้นที่อำเภอศรีสงคราม บ้านแพง ธาตุพนม และปลาปาก การตลาดจะส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศเป็นหลัก เช่น สหรัฐอเมริกาดา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และแคนนาดา อุตสาหกรรมแปรรูปมะเขือเทศต้องใช้แรงงานมาก ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนในจังหวัด ช่วยลดปัญหาการว่างงานการเคลื่อนย้ายแรงงาน เขตอุตสาหกรรม จังหวัดนครพนม ได้เสนอโครงการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมซึ่งเป็นที่ราชพัสดุในท้องที่อำเภอเมือง จำนวน 3 แห่ง คือ ที่ตำบลหนองญาติ ตำบลกุรุคุ และ ตำบลอาจสามารถ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อคัดเลือก 1 แห่ง จังหวัดนครพนมเป็นจังหวัดที่อยู่ในเขตส่งเสริมการลงทุนที่ 3 (เขตอุตสาหกรรมที่ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีนำเข้าเครื่องจักรภาษีนำเข้าวัตถุดิบและอนุญาตนำเข้าช่างฝีมือ และผู้เชี่ยวชาญการต่างประเทศ เป็นต้น) เมื่อจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมแล้ว จะทำให้โรงงานต่าง ๆ มาอยู่ในบริเวณเดียวกันเพื่อง่ายต่อการควบคุมและเป็นการป้องกันมลภาวะ องค์ประกอบที่เป็นสิ่งจูงใจการลงทุน จังหวัดนครพนมเป็นจังหวัด ที่มีจูงใจในการลงทุนของนักลงทุนพอสรุปได้ว่า ดังนี้ ที่ตั้งที่เหมาะสม ที่ตั้งจังหวัดนครพนมเป็นจุดกึ่งกลางระหว่าแกนอุตสาหกรรมในอนาคต คือ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี กับแหล่งทรัพยากรป่าไม้ เหมืองแร่ และพลังงานในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีทางออกที่ทะเลจีนใต้รัศมี ประมาณ 250 กิโลเมตร ดินฟ้าอากาศ เอื้ออำนวย มีอากาศหนาวเย็นเป็นเวลานาน มีปริมาณน้ำฝนกว่า 2,000 มม. (เท่าเกณฑ์เฉลี่ยของภาคใต้) เหมาะแก่การเพาะปลูกและปศุสัตว์ที่เป็นตัววัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมการเกษตรและสามารถพัฒนาให้ก้าวหน้าได้ มีแหล่งน้ำสำคัญ คือ แม่น้ำสงคราม ลำน้ำก่ำ มีห้วยและแหล่งน้ำเป็นระยะตลอดแนวเหนือใต้ของพื้นที่จังหวัด มีน้ำใต้ดินมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแนวสกลนคร-นครพนม และแนวท่าอุเทน มีอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ในอัตราวันละ 128 บาท ต่อวัน มีแรงงานเป็นจำนวนมาก อยู่ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ 3 จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านการส่งเสริมการลงทุน มากเป็นพิเศษ มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เช่น พระธาตุพนม เรณูนคร การเรือไฟในแม่น้ำโขง เป็นต้น ประเภทของอุตสาหกรรมที่น่าสนลงทุน บริษัท บิสซิเนส แอนด์ ริเสิร์ช คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้ศึกษาเพื่อกำหนดเขตอุตสาหกรรมและได้เสนอแนะประเภทอุตสาหกรรมที่น่าลงทุนในจังหวัดนครพนม คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ผักและผลไม้กระป๋องน่าลงทุนมากที่สุด รองลงไปคือ อุตสาหกรรมแปรรูปไม้และเครื่องเรือน ผลิตภัณฑ์ยางพาราและแปรรูปยางอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยเคมี พลาสติกและอัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย จังหวัดนครพนมมีอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวกระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกอำเภอซึ่งมีประเภทผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ดังนี้ คือ กระติบข้าว กระด้ง เสื่อใบลานลายผ้าใบ ทอผ้า เย็บผ้า หมอนฟัดทอง ฝาซีครอบอาหาร ทำหญ้าแฝก เช่น ปลาทู ขายเสื่อกก ไม้กวาดดอกหญ้า สุ่มไก่ ตะกร้าพลาสติก ถักแห สานสวิง สานหวดใส่ข้าว ทำแคน โหวด หมอนชิต ผ้าชิด ไม้ไผ่ ที่รองจาน เสื่อบุฟองน้ำ แหนมหมู ขนมจีน หนอไม้ปี๊บ ปลาร้า ปลาส้ม ปลาแห้ง เป็นต้น ชุมชนที่มีชื่อเสียงในการผลิตภัณฑ์ดังกล่าวคือ บ้านท่าเรือ อำเภอนาหว้า การพาณิชยกรรมและบริการ การพาณิชย์ การประกอบธุรกิจการพาณิชย์ในจังหวัดส่วนใหญ่เป็นรูปแบบเจ้าของคนเดียว การรวมหุ้นส่วนและบริษัทมีจำนวนไม่มากนัก สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าการเกษตร เช่น ข้าว มันสำปะหลัง จะถูกรวบรวมโดยพ่อค้าคนกลางในจังหวัดส่งไปขายต่อในตลาดจังหวัดอุดรธานี จังกวัดขอนแก่นและกรุงเทพมหานคร การประกอบธุรกิจอีกส่วนหนึ่งจะเป็นการค้าขายและการก่อสร้างจากข้อมูลการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทในจังหวัดนครพนม ข้อมูลนี้ดูที่วันที่ 31 ธันวาคม 2539 มีห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลจำนวน 13 ราย ทุนจดทะเบียน 25.6 ล้านบาท ห้างหุ้นส่วนจำกัด จำนวน 509 ราย ทุนจดทุนจดทะเบียน 513.7 ล้านบาท ร้อยละ 80 ของการประกอบธุรกิจเป็นการขายและการก่อสร้าง การค้าขายชายแดน มีจุดผ่านแดนถาวร 1 แห่ง ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม สินค้าส่งออกได้แก่ ข้าวสาร เครื่องไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์การเกษตรและสินค้า อุปโภคบริโภคโดยทั่วไป ส่วนสินค้านำเข้า ได้แก่ ไม้แปรรูป แร่ดีบุก เศษเหล็ก หวาย น้ำมันสน เป็นต้น นอกจากนี้ มีจุดค้าขายชายแดนเป็นจุดผ่อนปรนอีก 3 แห่ง ที่อำเภอบ้านแพง อำเภอท่าอุเทน และอำเภอธาตุพนม เพื่อให้ประชาชนไทย-ลาว ในท้องถิ่นได้ติดต่อ ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าเล็ก ๆ น้อย ที่จำเป็นต่อการครองชีพซึ่งกันและกัน การบริการ งานบริการต่าง ๆ ในเขตจังหวัดนครพนมจัดได้ ดังนี้ สถานที่พัก ในเขตอำเภอเมืองนครพนม ประเภทโรงแรมมีที่พัก 674 ห้อง ในเขตอำเภอธาตุพนม เป็นประเภทโรงแรมรีสอร์ท บังกะโล เกสเฮ้าส์ 142 ห้อง ในเขตอำเภอเรณูนคร เป็นประเภทรีสอร์ท 9 ห้อง ในเขตอำเภอท่าอุเทน ประเภทโรงแรม 16 ห้อง ในเขตอำเภอบ้านแพงประเภทโรงแรม 22 ห้อง ในเขตอำเภอศรีสงคราม ประเภทโรงแรม 8 ห้อง ร้านสินค้าพื้นเมือง ในเขตอำเภอเมือง 7 แห่ง ร้านขายเครื่องเงิน ในเขตอำเภอเมือง 11 แห่ง ร้านขายของฝากของที่ระลึก ในเขตอำเภอเมือง 11 แห่ง ร้านอาหาร ในเขตอำเภอธาตุพนม 4 แห่ง นอกจากนี้ มีอาชีพบริการ รถสามล้อ ประเภทสามล้อถีบมีเหลืออยู่น้อยมากสามล้อประเภทสามล้อเครื่อง (หรือเรียกว่าสกายเล็บ) มีจำนวนมาก ค่ารถบริการประมาณ 5-10 บาท (ภายใต้ตัวจังหวัด) ส่วนการบริการนำเที่ยวภายในจังหวัดยังไม่มีอาชีพประเภทนี้ชัดนัก เป็นเพียงจัดชั่วคราวที่มีคณะท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยียนเท่านั้น