สรุปผลการดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์จังหวัดนครพนม

ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาของเศรษฐกิจของประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท โดยเน้นการใช้ภูมิปัญญาของท้องถิ่น/ชุมชนมาพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือสินค้าของชุมชนให้มีคุณภาพ และได้มาตรฐานโดยมีส่วนราชการ ภาคเอกชนให้การสนับสนุนความรู้ และเทคนิควิธีการต่าง ๆ ทั้งนี้ ได้ให้กระทรวงมหาดไทยจัดประชุมชี้แจง แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมพัฒนาการจังหวัดและผู้แทนภาคราชการ/เอกชนที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2544 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล และมอบหมายให้จังหวัดได้จัดตั้งทีมงานหล่อหลอมความคิดให้มีเอกภาพนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมจังหวัดนครพนมได้ดำเนินการตามแนวทางที่กำหนด โดยสรุปผลการดำเนินงานโดยสังเขป ดังนี้

1. จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์”  ตามคำสั่งที่ 886/2544 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2544 และคำสั่งแต่งคณะกรรมการ (เพิ่มเติม) ตามคำสั่งจังหวัดนครพนม ที่ 998/2544 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2544 ประกอบด้วยคณะกรรมการ 3 คณะ

คณะที่ 1 คือ คณะกรรมการบริหารโครงการ มีผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมเป็นประธานและพัฒนาการจังหวัดนครพนมเป็นเลขานุการ หัวหน้าฝ่าย นโยบายและแผน  สำนักงานจังหวัดฯ และหัวหน้าฝ่ายส่งเสริมและพัฒนา

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฯ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ มีหน้าที่

1. กำหนดแนวทางการดำเนินงานโครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ของจังหวัด
2. จัดทำแผนปฏิบัติการดำเนินโครงการฯ ให้ชัดเจนสามารถปฏิบัติได้
3. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ตามโครงการให้ได้รับมาตรฐานสากล โดยเน้นส่งเสริมกระบวนการการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของชุมชน
4. เผยแพร่ผลการดำเนินงานตามโครการให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายแก่ส่วนราชการภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป
5. บูรณาการงบประมาณกิจกรรมของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีผลการดำเนินงานเป็นเอกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
6. จัดหาตลาดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทุกระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับประเทศ

คณะที่ 2 คือ คณะกรรมการปฏิบัติการโครงการ รวม 21 คน มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม (นายเจริญ วิมุตติโกศล) เป็นประธาน พัฒนาการจังหวัดนครพนมเป็นกรรมการและเลขานุการ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมและพัฒนา สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฯ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ มีหน้าที่ สำรวจและรวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพและมึความเหมาะสมตามโครงการ/จัดทำฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์์ตามโครงการต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ การบรรจุภัณฑ์ การตลาด เป็นต้น โดยประสานแผนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ร่วมกัน ระหว่าง หน่วยงาน

คณะที่ 3 คือ คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ มี 7 คน ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครพนม เป็นประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียง
แห่งประเทศไทย เป็นกรรมการและเลขานุการ ทำหน้าที่ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์โครงการฯ ให้เป็นที่รู้จักและเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งส่วนราชการ ภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติงานที่เป็นเอกภาพ เป็นรูปธรรม รวมทั้งเผยแพร่ผลการดำเนินงานของจังหวัดฯ ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย

2. การดำเนินการจัดทำบัญชีผลิตภัณฑ์
จังหวัดนครพนมได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการฯ เพื่อชี้แจงรายละเอียด หลักเกณฑ์แนวทางการดำเนินงานแก่คณะกรรมการและ
นายอำเภอทุกอำเภอ/ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอวังยาง พร้อมพัฒนาการอำเภอทุกอำเภอและพัฒนาการกิ่งอำเภอวังยาง และ มอบหมายให้ อำเภอ/ กิ่งอำเภอได้จัดการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ แล้วร่วมกันจัดเวทีประชาคม ระดับตำบลเพื่อค้นหา และจัดทำบัญชี ีผลิตภัณฑ์ดีเด่น ตามโครงการฯ ที่มีศักยภาพมีคุณสมบัติเหมาะสมในการพัฒนาให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน สามารถสร้างรายได้แก่ผู้ผลิตในชุมชน ทำให้ประชาชน ผู้ผลิตสินค้ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ได้จัดส่งบัญชีผลิตภัณฑ์ให้กระทรวงมหาด ไทยตามหนังสือจังหวัดฯ ด่วนที่สุด ที่ นพ 0017.2/9222 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2544 มีจำนวน ทั้งสิ้น 97 ตำบล 97 ผลิตภัณฑ์

 

3. การจัดลำดับความสำคัญและแยกประเภทของผลิตภัณฑ์
คณะกรรมการปฏิบัติการโครงการฯ ได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการฯ 3 ครั้ง โดยได้มีการพิจารณาบัญชีผลิตภัณฑ์ที่อำเภอ/กิ่งอำเภอนำเสนอขึ้นมา ตามมติความเห็นชอบของเวทีชาวบ้าน ซึ่งนายอำเภอทุกอำเภอและปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอรับรองความถูกต้องในที่สุดแล้ว หลังจากผ่าน
กระบวนการทบทวนแล้ว มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการเสนอให้เป็นผลิตภัณฑ์ดีเด่นในพื้นที่ 95 ตำบล 75 ผลิตภัณฑ์และสามารถแยกเป็น 5 ประเภทผลิตภัณฑ์ โดยแต่ละผลิตภัณฑ์คณะกรรมการฯ ได้เรียงลำดับความสำคัญไว้ตามสิ่งที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของจังหวัดนครพนม ดังปรากฎในบัญชีที่แนบ ทั้งนี้

ประเภทผลิตภัณฑ์ทั้ง 5 ประเภท ประกอบด้วย

1. ประเภทศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และแหล่งท่องเที่ยว รวม 22 ผลิตภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ที่ดีเด่นที่สุด คือ องค์พระธาตุพนม วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุ-พนม
2. ประเภทผลิตภัณฑ์การเกษตรแปรรูป รวม 19 ผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ที่ดีเด่นที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์จากปลา อาทิ ส้มปลาชะโดบ้านไชยบุรี ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน ปลาส้มบ้านท่าบ่อ ตำบลท่าบ่อสงคราม อำเภอศรีสงคราม เป็นต้น
3. ประเภทผลผลิตด้านการเกษตร รวม 14 ผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ที่ดีเด่นที่สุดคือ ข้าวหอมมะลิ 105 ในพื้นที่ อำเภอเรณูนคร นาแก ศรีสงคราม ฯลฯ
4. ประเภทอุตสาหกรรมในครัวเรือน รวม 19 ผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ที่ดีเด่นที่สุด คือ เครื่องดนตรีพื้นบ้าน (แคน , โหวต , พิณ) บ้านท่าเรือ ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า
5. ประเภทอื่น ๆ มี 1 ผลิตภัณฑ์ คือ แรงงานที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ (กระจายอยู่ในทุกอำเภอ/กิ่งอำเภอ) ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับจังหวัด นครพนมได้ราวปีละ 1,200 ล้านบาทต่อปี
4. แนวทางการดำเนินงานฯ ในลำดับต่อไปเมื่อคณะกรรมการปฏิบัติการโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ได้จัดทำบัญชีผลิตภัณฑ์ดีดเด่นตาม โครงการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้แจ้งให้คณะกรรมการบริหารโครงการฯ พร้อมทั้ง หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนได้ทราบ ตลอดจนได้ประสานให้ส่วนราชการฯ กำหนดแผนการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดได้รับการพัฒนาทั้งด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ รูปแบบบรรจุภัณฑ์ ทักษะฝีมือของผู้ผลิต การตลาดหรืออื่น ๆ ตามสภาพปัญหา และความต้องการของพื้นที่ที่ได้นำเสนอให้คณะกรรมการฯ ทราบ

อนึ่ง เมื่อจังหวัดนครพนมได้ดำเนินการตามแผน/ขั้นตอนโครงการฯ ปรากฏผลเป็นประการใด จักรายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบ ตามลำดับ และ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายต่อไป