ลูกพระธาตุพนม

ความเชื่อความศรัทธาของสามัญชนที่มีต่อองค์พระธาตุพนม ประการหนึ่งคือ การขอบุตรจากองค์พระธาตุพนม ผู้ที่ไม่มีบุตรมาก่อนและต้องการมีบุตรสืบตระกูล ผู้ที่มีบุตรสาวแต่ไม่มีบุตรชายหรือมีบุตรชายแต่ไม่มีบุตรสาวก็ดี บุคคลที่มีปัญหาเหล่านี้เพมื่อไปปรึกษาแพทย์แล้วทำตามคำแนะนำของแพทย์ก็แล้ว ก็ยังไม่มีบุตรเช่นนี้ สุดท้ายก็มักจะไปขอบุตรจากองค์พระธาตุพนม ซึ่งมีผู้ที่รู้จักคุ้นเคยกับผู้เขียนหลายรายดังเช่น คุณเกียรติศักดิ์ ตุงคะมณี นายอำเภอ หรือคุณเกษมศักดิ์ แสนโภชน์ ปลัดจังหวัดขอนแก่น ก็ได้ไปกราบบนบานขอลูกจากองค์พระธาตุพนม และก็ได้บุตรชาย.

 

 

ข้าโอกาสพระธาตุพนม

คำว่า “ข้าโอกาส” เริ่มใช้ในสมัยพญาสุมิตตธรรมวงศา ผู้มาบูรณะพระเจดีย์ธาตุพนมครั้งแรก เมื่อประมาณ พ.ศ. ๕๐๐
คำว่า “ข้าโอกาส” แปลว่า ได้รับการยกเว้น การเสียภาษีอากร ให้แก่แผ่นดินโดยอาสามัครเข้ามาทำหน้าที่อุปัฏฐากบำรุงพระธาตุ หมายความว่า รับราชการเป็นผู้ถวายการอุปถัมภ์พระธาตุพนม โดยได้รับการยกเว้นภาระกิจที่จะต้องทำให้บ้านเมือง ในฐานะพลเมืองดี  มาทำหน้าในที่พระพุทธศาสนาแทน
ต่อมาภายหลัง คำนี้นำมาใช้ทั่วไปกับผู้มีความเสื่อมใสในองค์พระธาตุพนม ไม่ว่าจะมีถิ่นฐานอยู่ในเขตอำเภอธาตุพนม หรืออยู่ที่อื่นที่มีความเสื่อมใสศรัทธาต่อองค์พระธาตุพนม
ข้าโอกาส คือ ผู้ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษี คือ ค่าหัว (ค่าตัว = ค่าแรงงาน) ให้แผ่นดินเพราะมีหน้าที่ในการอุปัฏฐากองค์พระธาตุพนมอยู่แล้ว ตกมาในสมัยนี้ประชาชนของประเทศ จะต้องเสียภาษีให้แก่แผ่นดิน ทั้งในทางตรง และทางอ้อม แต่ก็ยังเลื่อมใสศรัทธาในอันที่จะอุปถัมภ์จนถึงปัจจุบันคำว่า “เสียค่าหัว” จึงยังคงใช้เรียกผู้ทำนุบำรุงอุปถัมภ์พระธาตุพนมอยู่เช่นกับสมัยก่อน
คำว่า “ข้าโอกาส” นิยมใช้กันมาแต่โบราณกาล โดยเฉพาะช่วงที่มีงานเทศกาล โดยเฉพาะช่วงที่มีงานเทศกาลนมัสการพระธาตุพนมเริ่มตั้งแต่ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ ในช่วงนี้ ชาวธาตุพนมและประชาชนในอาณาบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดผู้เคารพเลื่อมใสในองค์พระธาตุพนม ที่อาศัยอยู่ในประเทศลาว ก็จะเริ่มทยอยเดินทางมานมัสการพระธาตุพนม เป็นระยะ ๆ ไม่ขาดสาย ด้วยการเดินเท้าหรือพาหนะต่าง ๆ ตามยุดตามสมัย ช่วงนี้จะเรียกว่าเป็นช่วง การเสียค่าหัว ของข้าโอกาสพระธาตุพนมทั้งหลาย คำนี้แม้จะรุนแรงไปบ้างสำหรับความรู้สึกของคนบางคนในสมัยในปัจจุบัน แต่ก็เป็นคำที่เรียกใช้กันมาแต่สมัยโบราณกาล และเป็นคำที่มีความหมายลึกซึ้ง ทางมโนธรรม ของผู้เคารพเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะข้าโอกาสพระธาตุพนม ซึ่งเป็นการแสดงออกจึงเจตนาอันบริสุทธิ์ ที่จะมอบกายถวายชีวิตแด่พระพุทธศาสนาที่มีองค์เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนพระอุระของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประจักษ์เป็นสักขีพยานอยู่ในปัจจุบัน