
พิธีถวายข้าวพีชภาคและเสียค่าหัวของข้าโอกาสพระธาตุพนม
มีเรื่องราวในตำนานอุรังคนิทานหลายเรื่องหลายตอนที่น่าศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างองค์พระธาตุ และผู้เกี่ยวข้องกับองค์พระธาตุเป็นส่วนใหญ่ หากย้อนรอยอดีต ๒,๐๐๐ กว่าปีถึงปัจจุบันก็จะได้ความคิดขึ้นมาว่า ชาวเราข้าโอกาสพระธาตุพนมทั้งหลายคงได้เกิดร่วมยุค ร่วมสมัยสร้างพระธาตุพนม ในสมัยเจ้าพระยาทั้ง ๕ และได้เคยเป็นข้าทาสรับใช้องค์พระธาตุพนมในยุคโน้นก็เป็นได้ ปัจจุบันจึงได้มีโอกาสมารับใช้บำรุงรักษาองค์พระธาตุอีก เพราะบุญกรรมนำแต่งเป็นสายใย จากอดีตถึงปัจจุบันเหมือนลูกโซ่ แม้จะยาวแค่ไหนก็ยังโยงถึงกันได้
เรื่องราวที่จะเรียบเรียงโดยสังเขปต่อไปนี้ ได้หยิบยกเอาเรื่องราวบางตอนในอุรังคนิทานอันเกี่ยวกับการเกิดมีข้าโอกาสพระธาตุพนมมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อประดับความรู้
ข้าโอกาสพระธาตุพนม ได้มีมาแต่สมัยเจ้าพระยาสุมิตตธรรมวงศา ผู้ครองเมืองมรุกขนครประมาณ พ.ศ. ๕๐๐ พระองค์ทรงมีความเลื่อมใสศรัทธาในองค์พระธาตุพนมอย่างแรงกล้า ได้ทรงมาบูรณะองค์พระเจดีย์พระธาตุพนม จนเสร็จสมบูรณ์ ได้ทรงสละคนให้เป็นข้าโอกาสจำนวน ๓,๐๐๐ คน ดังความตอนหนึ่งในหนังสืออุรังคนิทานว่า “พญาสุมิตตธรรมวงศาจึงตรัสแก่พลเทวอำมาตย์ ให้ไปบอกกล่าวแก่คนทั้งหลายว่า บุคคลเหล่าใดยังพอใจในการพระราชศรัทธา เราจะให้รับราชการเป็นข้าอุปัฏฐากพระมหาธาตุเจ้า เราจะอภัยโทษ เว้นเสียจากงานราชการบ้านเมือง และเราจะมอบที่ดินไร่นา ทองคำ เสื้อผ้า เครื่องใช้ในการงาน เป็นต้นว่า มีด พร้า จก เสียมขวานเล็ก ขวานใหญ่ สิ่ว ซี ให้พร้อมสรรพ ควายคู่หนึ่งเทียนเล่มหนึ่งเรือลำหนึ่ง ให้เขาเหล่านั้นหาลูกเมียญาติพี่น้องวงศ์วาน เข้ามาตั้งบ้านสร้างเมืองอยู่ในนั้น ทั้งนี้ แสดงว่าชื่อหมู่บ้านธาตุพนมได้ปรากฏในตำนานอุรังคนิทาน แต่บัดนั้นมาจนถึงในที่นั้น คนเหล่านั้นมีความเลื่อมใสศรัทธาในองค์พระธาตุเจ้า อย่างสุดชีวิตจิตใจ คอยอุปถัมภ์อุปัฏฐานองค์พระมหาธาตุเจ้ามามิได้ขาด ได้รับการยกเว้นจากการเสียส่วยอากรเพราะได้อาสาอุปถัมภ์อุปัฏฐากองค์พระธาตุพนม คนเหล่านี้จึงเรียกตัวเองว่า “ข้าโอกาส” ติดปากมาตามลำดับ จนถึงพวกเราผู้เป็นหน่อแนว ลูก หลาน เหลน โหลน ในปัจจุบันนี้
ในราว พ.ศ. ๒๐๘๒ พระเจ้าโพธิศาลราช ครองนครหลวงพระบาง ได้เสด็จมาบูรณะพระธาตุพนมและได้ทรงโปรดกล้า ฯ ให้สร้างพระวิหารคตหอพระแก้ว ก่อนเสด็จกลับได้ทรงเลือกสรรเอาข้าโอกาสพระธาตุ แต่ก่อนได้บ้างไม่ได้บ้าง ไม่ครบตามจำนวน จึงได้รวบรวมคนเพิ่มเติมให้ครบ ๓,๐๐๐ คน มีหน้าที่อุปัฏฐากพระธาตุเหมือนเก่าก่อน
ครั้นลุถึงพุทธศักราช ๒๑๗๕ เจ้าหน่อเมืองได้ครองนครศรีโคตบูรหลวง พระนานว่า “ พระเจ้านครหลวงพิชิตราชธานีศรีโคตบูร” ครั้งนั้นเมืองศรีโคตบูร ตั้งอยู่ได้เมืองท่าแขกในแคว้นลาวปัจจุบันยังมีซากเมืองร้าวให้ปรากฏอยู่ เช่น พระธาตุศรีโคตบูร ซึ่งพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงสร้างไว้ให้เป็นอนุสรณ์แด่พญาศรีโคตบูรผู้ครองอาณาจักรศรีโคตบูรยุคแรก (ยุคสร้างพระธาตุพนม) ทุกวันนี้พี่น้องชาวบ้านก็ได้จัดงานไหว้พระธาตุศรีโคตบูร พร้อมกับงานนมัสการพระธาตุพนม เช่นกัน เมืองศรีโคตบูรได้อพยพข้ามโขงตั้งอยู่ใต้เมืองนครพนมลงมาซึ่งยังมีซากเมืองเก่าให้เห็นอยู่ (บ้านเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ในปัจจุบันนี้)
พระยาหลวงพิชิตราชธานีศรีโคตบูร มีศรัทธาเลื่อมใสในพระธาตุพนมเป็นอย่างมาก จึงพร้อมด้วยเสนาอำมาตย์มาปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนมที่ซำรุดเศร้าหมองให้ผ่องใส เสร็จเรียบร้อยแล้ว พระองค์จึงทรงตั้งจิตอธิฐานหมายปักแดน เพื่อไม่ให้เป็นโทษแก่องค์พระธาตุพนมในอนาคต ดังจารึกในแผ่นศิลาตอนหนึ่งว่า “ ประการหนึ่ง ข้าโอกาสหยาดทาน เขตแดน ดินดอน ไฮ่นา น้ำหนองกองปาที่ได้ อันพระยาสามัตราชปสาทให้ไว้ เป็นอุปการะแก่พระมหาธาตุเจ้าดังเก่าไผอย่าถกอย่าถ่อน ผิว่าผู้ใดโลภะตัณหามาก หากยังมาถกมาถอนดินดอน ไฮ่นา บ้านเมืองน้ำหนองกองปา ฝูงนั้นออก อปายะ คมะนียา (คือความพินาศฉิบหาย) ให้เถิงแก่มันแล” ดังนี้ พระองค์ยังสืบหาข้าโอกาสบ่าวพระมหาธาตุพนม ที่กษัตริย์เก่าก่อนสละถวายไว้แก่พระมหาธาตุเจ้าทราบว่าคนบ้านสะดือ, นาวาง, ตาลเทิง, ผักเฟื้อ, ดงนอก, ดงใน ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งซ้ายตามลำน้ำ
เซบั้งไฟ เคยเป็นข้าโอกาสพระมหาธาตุเจ้ามาก่อน พระองค์จึงละให้หมู่บ้านเหล่านั้น เป็นข้าโอกาสพระธาตุพนมดังเดิม และสละหมู่บ้านฝั่งขวาแม่น้ำโขงทางตะวันตกเขตอำเภอนาแก ทางขวาเขตห้วยบังฮวก ตำบลดอนนางหงส์มาทางทิศใต้ตั้งแต่เขตอำเภอหว้านใหญ่มาให้เป็นข้าโอกาสพระธาตุพนมเพิ่มเติม ชาวบ้านที่เป็นข้าโอกาสพระธาตุดังกล่าว ครั้นถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวแล้ว ต่างก็นำข้าวพีชภาคปราสาทผึ้งและเครื่องสักการะบูชาต่าง ๆ มาถวายแด่พระมหาธาตุเจ้ามิได้ขาด เมื่อได้ทุกข์ เขาทั้งหลายเหล่านั้นได้ไหว้วอน บนบานขอความคุ้มครองเป็นความเชื่อถืออย่างแน่นแฟ้นสืบมา จนถึงทุกวันนี้
ครั้งนั้นชาวข้าโอกาสทั้งหลายที่เป็นบ่าวข้าโอกาสพระธาตุ มิได้เสียส่วยอากร ได้รับยกเว้นจากเจ้าบ้านสมภารเมืองสืบ ๆ มา ได้ผลัดเปลี่ยนวาระกันมานอนเฝ้าพระมหาธาตุพนมเจ้า คืนละ ๖ คนมิได้ขาดมาล้นเลิกเก็บส่วยอากร และนอนเวรยาม ในปลายแผ่นดินพระเจ้ารามาธิบดีที่ ๕ แห่งจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง
ถึงแม้จะเลิกการเป็นข้าโอกาสบ่าวพระธาตุพนม สมัยก่อนก็ตาม ผู้เป็นลูกหลานเหลน โหลนสุดท้ายภายหลัง ก็ยังถือปฏิบัติในเรื่องการเคารพคารวะต่อพระบรมธาตุมิได้ขาด จะเห็นได้ในเวลาก่อนงานนมัสการธาตุพนม ๒ วัน คือวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี บรรดาข้าโอกาสพระธาตุพนมทั้งหลายทั้งใกล้และไกล ต่างก็พากันมาร่วมใจ ในขบวนแห่พระอุปคุตถวายข้าวพีชภาค – ต้นกัณฑ์ และเครื่องสักการะต่าง ๆ มีขันหมากเบ็ง เป็นต้น มากขึ้นทุก ๆ ปี นอกจากนั้นงานวันสุดท้ายยังพากันมาเสียค่าหัวในฐานะข้าโอกาสพระธาตุเป็นจำนวนมาก
ในงานนมัสการพระธาตุพนมทุก ๆ ปี หลายคนที่เสียสละกำลังความคิดเสียสละเวลาอันมีค่ามาทุ่มเทในงานนมัสการพระธาตุพนม โดยเป็นกรรมการเจ้าหน้าที่ อย่างไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก ชนิดอดตาหลับขับตานอน หน้าดำคร่ำเครียด หลังงาน ๗ วันแล้วจึงขอนอนให้เต็มอิ่ม บางคนจำต้องเข้าโรงซ่อมสังขารที่ทรุดโทรมก็มี คนพวกนี้ถือว่าเป็นข้าโอกาสพระธาตุอย่างสมบูรณ์ คิดเอาว่าปางก่อนคงเคยได้เกิดในยุคสร้างพระธาตุพนมก็เป็นได้ จึงมีโอกาสมารับใช้อีกในยุคปัจจุบันนี้ อนึ่งบรรดาเทพผู้เฝ้ารักษาองค์พระธาตุพนม คงจะได้มองเห็นการทำความดีงามของแต่ละบุคคลอย่างแน่นอน ด้วยคุณงามความดีที่เสียสละช่วยงานนมัสการพระธาตุพนม ในปี ๒๕๔๕ ขอเดชบารมีอันศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุพนม จงอภิบาลคุ้มครองทุก ๆ คน
ให้มีแต่ความสุขกายสุขใจ เจริญในหน้าที่การงาน และเจริญในธรรมของพระพุทธเจ้าตลอดไปเทอญ.