หมากข้าวติดมือ


หมากข้าวติดมือ


                        หมากข้าวติดมือ   หมากข้าวติดมือ   เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งของหนุ่มสาวชาวชนบทในท้องที่จังหวัดนครพนม   เป็นการละเล่นที่มีข้อกำหนดให้เล่นเฉพาะในงานศพขณะที่ศพยังอยู่ในบ้านเท่านั้น   ปัจจุบันนี้การละเล่น   หมากข้าวติดมือ   กำลังจะสูญหายไป   เนื่องจากความนิยมในหมู่คนหนุ่มสาวลดน้อยลง   เพราะมีการละเล่นอย่างอื่นเข้ามามีอิทธิพลมากกว่า
                        ความเป็นมา   การละเล่นหมากข้าวติดมือไม่ปรากฏหลักฐานว่าเริ่มเล่นกันตั้งแต่สมัยใด   และค้นหาคำตอบไม่ได้ว่าใครเป็นคนต้นคิดการละเล่นประเภทนี้ขึ้นมา   แต่ชาวบ้านทั่วไปก็ได้เห็นหนุ่มสาวเล่นกันอย่างสนุกสนานมานานแล้ว   เมื่อประมาณ   50   ปีก่อน   การเล่นหมากข้าวติดมือ   ถือได้ว่าเป็นการละเล่นที่สร้างความสนุกสนาน   ประสานความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาว   และเป็นการเล่นที่ช่วยลดความโศกเศร้าในงานศพลงได้บ้าง   คนในสมัยก่อนจะเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจมาก   การไปร่วมงานศพของชาวบ้านจะมีการนัดแนะไปกันเป็นกลุ่มทั้งหนุ่มและสาว   ขากลับก็จะกลับพร้อมกันจะได้ไม่กลัวเมื่อไปถึงบ้านศพซึ่งชาวบ้านจะเรียกว่า   เฮือนดี   หนุ่มสาวก็จะช่วยกันทำสำรับกับข้าวช่วยเจ้าภาพเพื่อเลี้ยงแขก   พอเสร็จภาระหน้าที่แล้วจะเป็นช่วงพบปะกันระหว่างหนุ่มสาวโดยมีการละเล่นเป็นสื่อกลาง   เช่น   เกมการเล่นหมากข้าวติดมือ   หมากเสียดพลูยา   หมากคล้องช้างและหมากเสือกินหมู   เป็นต้น   ทุกเกมการละเล่นจะมีกฎกติกา   หรือข้อสัญญาการลงโทษฝ่ายแพ้สุดแท้แต่จะกำหนด   เช่น   เขกเข่า   ให้ฟ้อน   ดื่มเหล้า   ร้องเพลง   ดื่มน้ำเปล่าทีละขันเป็นต้น   บางทีอาจมีข้อสัญญาให้เปิดเผยถึงความในใจ   เรื่องความรักว่ารักใครต้องตอบให้คณะผู้ชนะทราบ   จึงทำให้หนุ่มสาวในสมัยก่อนเกิดรักใคร่  ชอบพอกันเพราะกิจกรรมการละเล่นก็มี
            รายละเอียดเกี่ยวกับการเล่นหมากข้าวติดมือ   จำนวนผู้เล่นตั้งแต่   2   คนขึ้นไปโดยไม่จำกัดจำนวนแต่ต้องแบ่งผู้เล่นเป็น   2   ฝ่าย   จะแยกชายหญิงหรือคละกันก็ได้   ที่นิยมกันมาก็คือ   การแบ่งฝ่ายหนุ่มฝ่ายสาว
                        อุปกรณ์การเล่น      ข้าวเหนียวนึ่ง   นำมานวดให้เหนียวจนติดมือเหมือนกาวโดยใช้มือทั้ง   2   ข้างคลึงให้เป็นก้อนเล็ก ๆ ขนาดเท่าปลายนิ้วมือ   1   ก้อน
                        วิธีการเล่น   เมื่อแบ่งฝ่ายเล่นเป็น 2   ฝ่ายแล้วให้ตกลงกันว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้เล่นก่อน   บางครั้งฝ่ายชายจะให้เกียรติฝ่ายหญิงเล่นก่อน   ฝ่ายได้เล่นก่อนจะให้คนหนึ่งถือข้าวเหนียวไว้บนไว้บนฝ่ามือหงายมือขึ้นให้ทุกคนเห็นก้อนข้าวเหนียวชัดเจน   ผู้เล่นอีกคนหนึ่งใช้มือทั้ง   2   ข้างครอบปิดที่มือของผู้ที่ถือก้อนข้าวเหนียว   แล้วทั้ง   2   คน   พยายามกำมือไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามทราบได้ว่าก้อนข้าวเหนียวอยู่ที่มือใครหรือมือข้างใด   ผู้เล่นก็กำมือไปหาคนที่   3   แสร้งถ่ายเทก้อนข้าง
 
เหนียวให้เหมือนเดิม   อาจมีก้อนข้าวอยู่กับคนแรกก็ได้   เป็นการอำพรางให้แนบเนียนที่สุดทำไปเรื่อยจนครบคนทั้งทีม   เมื่อถ่ายเทก้อนข้าวครบทุกคนแล้วฝ่ายเล่นก็ทายฝ่ายตรงข้ามว่าก้อนข้างเหนียวอยู่ที่ใคร   และอยู่มือข้างใด   อาจร้องเพลงเย้ยกัน   หรือพูดผญาแทรกให้สนุกสนานก็ได้   ฝ่ายตอบก็ต้องสังเกต   พิจารณาให้แน่ชัดทั้งสีหน้าท่าทีรวมถึงสังเกตตั้งแต่ขั้นถ่ายเทก้อนข้าวแต่ช่วงแรก ๆ ด้วย   เมื่อมั่นใจก็ตอบว่าอยู่ที่ใคร
                        วิธีการประกอบของผู้เล่น   แต่ละคนที่กำมืออยู่อาจให้อากัปกิริยาแสดงให้ผู้ที่จะตอบไขว้เขวหรือหลงทางก็ได้
                        กติกา   เมื่อฝ่ายตอบชี้ได้ถูกต้องก็จะเปลี่ยนไปเป็นฝ่ายเล่นและทำโทษฝ่ายที่แพ้ตามที่ตกลงไว้   ถ้าตอบไม่ถูกก็ถูกทำโทษ   ฝ่ายเล่นก็เล่นต่อไปหรือจะตกลงเปลี่ยนข้างเล่นฝ่ายละเกมก็ได้
                        โอกาสที่จะเล่น   เล่นในงานศพที่ยังอยู่ที่บ้านเท่านั้น   การกำหนดรอบหนึ่ง ๆ ใช้เวลาประมาณ   2-3   นาที
                        ประโยชน์และข้อคิดที่ได้จากการละเล่น   เพื่อให้เกิดความสนุกสนานลดความเศร้าโศกในงานศพลงบ้าง   เพื่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ   ให้ผู้เล่นได้ฝึกการสังเกต   และมีไหวพริบ   ให้รู้จักยอมรับและปฏิบัติตามกฎกติกาที่สังคมกำหนด   สร้างความคุ้นเคยระหว่างหนุ่มสาวและสมาชิกใหม่   ส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมอันดีของชุมชนให้คงอยู่สืบไป   ให้เป็นผู้รู้จักคิดหาเหตุผลในข้อห้ามเกี่ยวกับการเล่นและการกำหนดให้เล่นในงานศพด้วยเหตุผลอะไร
            หมากข้าวติดมือที่ถือว่าเป็นการละเล่นมาแต่ครั้งโบราณปัจจุบันความนิยมลดลงจนไม่มีผู้สืบทอดให้เห็นอีกแล้ว    จึงเป็นที่น่าเสียดายที่การละเล่นอันทรงคุณค่า   ซึ่งคนโบราณได้คิดค้นตามภูมิปัญญาไว้ให้ลูกหลานกำลังจะเหลือเพียงตำนานเท่านั้น