ศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อ ชาวนครพนมนับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนมากมีบางส่วนนับถือศาสนาคริสต์และซิกส์ ส่วนลัทธิอื่นไม่มีให้เห็นเด่นชัด มีรายละเอียดอื่นเป็นองค์ประกอบสำคัญดังต่อไปนี้ คือ ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่ชาวนครพนมส่วนมากนับถือและในศาสนาพุทธนี้มี 2 นิกาย คือ มหานิกาย 1 ธรรมยุติกนิกาย 1 ในการปกครองและบริหารงานทั้งสองนิกายเหมือนกัน – พระสงฆ์ในจังหวัดนครพนมทุกนิกายร่วมกันพัฒนาชาวนครพนมทางด้านกาย วาจา ใจ ให้มีคุณธรรมจริยธรรมทั้งยังเป็นผู้นำในการพัฒนาสภาพแวดล้อมของท้องที่ต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ศาสนาคริสต์ เป็นศาสนาที่เข้ามาเผยแพร่ในเขตจังหวัดนครพนม เมื่อปี พ.ศ. 2428 เกิดจากการรวมกลุ่มของชาวบ้านคำเกิ้มเป็นคริสตังใหม่ และคริสตังสำรองที่อยู่ห่างจากตัวจังหวัดนครพนมไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 3-4 กิโลเมตร และในหมู่บ้านที่มีครอบครัวไม่นับถือคริสตัง ประมาณ 3-4 ครอบครัว ได้มีคณะบาทหลวงได้เดินทางเข้ามาพบโดยมีคุณพ่อโปรโดม คุณพ่อซาเวียร์ คุณพ่อดาแบง ได้ตกลงกันจัดสร้างวัดไว้ถือศีลล้างบาปให้แก่ชาวบ้านคำเกิ้มตั้งแต่นั้นรวมทั้งสิ้น 114 ปี และบาทหลวงองค์แรกที่เป็นองค์อุปถัมภ์ คือ คุณพ่อซาเวียร์ ต่อมาท่านได้เปิดขยายวัดหลายพื้นที่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในจังหวัดดังต่อไปนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2429 หมู่บ้านขามเฒ่า หมู่บ้านเชียงยืน พ.ศ. 2430 หมู่บ้านสองคอน หมู่บ้านหนองแสง หมูบ้านซอง พ.ศ. 2431 หมู่บ้านนาราชควายน้อย หมู่บ้านนาใน พ.ศ. 2432 บ้านนามน พ.ศ. 2435 หมู่บ้านหนองคา ในการขยายพื้นที่ในการเผยแพร่ศาสนาบาทหลวงอุปถัมภ์ ได้เพิ่มจำนวนวัดในแต่ละชุมชนและจำนวนคริสตังใหม่ และคริสตังสำรองมากมายจนถึงปัจจุบัน ศาสนาซิกส์ ประมาณปี พ.ศ. 2430 ได้มีชาวอินเดียเข้าอาศัยและค้าขายในจังหวัดนครพนม ประมาณ 8-10 ครอบครัว ในการค้าขายของชาวอินเดียนั้นเป็นประเภทผ้าชนิดต่าง ๆ ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2501-2504 ได้มีผู้นำศาสนาซิกส์ จังหวัดอุบลราชธานีได้มาก่อสร้าง คุรุสิงสภา ไว้สำหรับสวดและสั่งสอนให้แก่ผู้นับถือศาสนาแต่ในปัจจุบันในคุรุสิงสภาไม่มีผู้นำสวดสั่งสอนเพราะจำนวนผู้นับถือศาสนาน้อยเหลืออยู่ประมาณ 2 ครอบครัวและได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธแล้ว ผู้นำสวดจึงได้อพยพกลับจังหวัดอุบลราชธานี