พิธีกรรม


พิธีกรรม


พิธีกรรม
                        ประเพณีตีช้างน้ำนอง   ตีช้างน้ำนองเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของผู้เข้าร่วมแข่งขันเรือยาวในงานเทศกาลออกพรรษาของจังหวัดนครพนม   ถือว่าเป็นการร่วมขอขมาพญานาคและเจ้าผู้รักษาดูแลแม่น้ำ   เนื่องจากการแข่งขันเรือยาวหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า  ส่วงเฮือ   นั้นสร้างความแตกตื่นด้วยเสียงดังจากกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ในช่วงเวลาส่วงเฮือถึง   3   วัน   ชาวบ้านต่างเชื่อกันว่าบรรดาพญานาคและเจ้าผู้ดูแลแม่น้ำต้องเกิดความรำคาญเป็นแน่   ดังนั้นเมื่อการส่วงเฮือเสร็จสิ้นลงบรรดาฝีพายของเรือทุกลำที่เข้าร่วมแข่งขันหรือส่วงในปีนั้น ๆ   จะต้องร่วมพิธีกรรมขอขมาพญานาคและเจ้าผู้ดูและรักษาแม่น้ำในช่วงบ่ายของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เรียกว่า ตีช้างน้ำนอง   โดยถือว่าเป็นการคารวะที่ท่านได้ให้ความคุ้มครองดูแลไม่พิโรธ   อีกทั้งเป็นการบอกกล่าวลาสิ้นสุดงาน   ปีหน้าเมื่อถึงเทศกาลจะมีการส่วงเฮืออีกขอให้ดูแลในปีต่อ ๆ ไปด้วย
                        รูปแบบประเพณีตีช้างน้ำนองของชาวนครพนม มี 2 รูปแบบ
                        รูปแบบที่ 1   นำเรือยาวทุกลำที่เข้าร่วมส่วงเฮือผูกโยงต่อกันเป็นแถว หัวเรือและท้ายเรือแต่ละลำชิดกันตั้งขบวนขวางลำแม่น้ำ   โดยให้หัวแถวอยู่ฟากหนึ่ง หางแถวอยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำ   ไม่มีการพายเรือแต่ให้บรรเลงมโหรีตีกลองร้องรำให้ดังสนั่นไปทั่วคุ้งน้ำ   ในขณะเดียวกันเรือยาวก็จะค่อยไหลไปตามกระแสน้ำจนถึงหลักชัย   ทุกคนก็กล่าวขอขมาขออโหสิที่ได้รบกวนให้แตกตื่นมาถึง   3   วันเป็นเสร็จพิธี
                        รูปแบบที่   2   มีเรือปะรำพิธีที่มีเครื่องยนต์แรงสูงสามารถลากเรือยาวทุกลำมีผูกโยงต่อกันไปตามลำน้ำ   โดยลากเป็น   2   แถว   เรือยาวแต่ละลำมีปราสาทผึ้งไว้กลางลำเรือด้วยแต่ละลำบรรเลงมโหรี ตีกลอง   ร้องรำเหมือนรูปแบบที่   1   ในขณะที่เรือปะรำผ่อนเครื่องยนต์ให้ไหลล่องไปตามลำน้ำจนถึงหลักชัยเมื่อขอขมาเสร็จแล้ว   เรือปะรำก็เดินเครื่องลากจูงขึ้นไปจุดเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่ง   แต่เรือยาวคุ้มวัดต่าง ๆ   ที่อยู่ท้ายเมืองเมื่อถึงท่าน้ำวัดของตนก็ปล่อยเชือกอำลาเพื่อนผู้ร่วมส่วงเฮือทั้งหลายว่าปีหน้าพบกันใหม่   แล้วนำจตุปัจจัยและปราสาทผึ้งขึ้นไปถวายวัดเรือยาวลำอื่น ๆ ก็ทยอยแยกกันไปเรื่อยเป็นเสร็จพิธี
                        วิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลง
                        ปัจจุบันประเพณีตีช้างน้ำนอง   ได้ยกเลิกไปแล้วเนื่องจากผู้ปกครองบ้านเมืองผู้บริหารระดับสูง กรรมการจังหวัด   เห็นว่าการจัดกิจกรรมทางน้ำเสี่ยงต่ออันตราย   เนื่องจากมีการดื่มสุรามึนเมา   บ้างก็มีผู้หญิงและเด็กลงมาร่วมขบวนด้วย   อีกทั้งเคยมีเรือล่มทำให้ปราสาทผึ้งเสียหาย   เกรงจะมีอันตรายถึงผู้คน   ควรเปลี่ยนขึ้นมาจัดขบวนแห่ปราสาทผึ้งทางบกจะเหมาะสมสะดวก   และปลอดภัยกว่า   ดังนั้นประเพณีตีช้างน้ำนองจึงไม่ปรากฏให้เห็นอีกในปัจจุบัน
                        ที่มาของคำว่า   ตีช้างน้ำนอง   คำว่า   ตีช้างน้ำนอง   เกี่ยวข้องกับขบวนแห่ปราสาทผึ้งทางน้ำอย่างไรทำไมชาวบ้านจึงเรียกว่า   ตีช้างน้ำนอง   เป็นเรื่องที่น่าศึกษาหากจะพิจารณาจากความหมายของคำที่มาผสมกันแล้วก็พอจะมีเค้านำไปสู่ความเข้าใจได้
                        ตีช้าง   น่าจะเป็นคำเปรียบเทียบที่ผู้คนมากมายนำเรือยาวจำนวนมากมารวมกันและร่วมบรรเลงด้วย   ฆ้องกลองเป่าแคน   ส่งเสียงดังเหมือนโขลงช้างลงเล่นน้ำ
                        น้ำนอง  จะมีความหมายเป็น 2   แนวทางคือ   น้ำนองหมายถึงน้ำมากหรือน้ำหลากเช่นเดือน 11 น้ำนองเดือน 12 น้ำทรง อีกความหมายหนึ่งคำว่า  นอง   ภาษาไทยอีสานหมายถึง   เสียงดังลั่น   เมื่อรวมคำว่า   น้ำนอง   ก็หมายถึง   เสียงดังลั่นหรือก้องไปทั่วคุ้งน้ำ
                        ตีช้างน้ำนอง   จึงมีความหมายโดยรวมว่า   การจัดงานใหญ่เปรียบได้ว่าเป็นงานช้าง   มีการคบงันบรรเลงด้วยการตีฆ้องกลองเป่าแคนมีหมอลำ   ทำให้เสียงดังลั่นไปทั่วคุ้งน้ำในฤดูน้ำหลาก
                        ประเพณีตีช้างน้ำนอง   ถือว่าเป็นการขอขมาแม่น้ำและพญานาค   หรือผู้ดูแลรักษาแม่น้ำ   ซึ่งได้ถูกชาวบ้านก่อกวนให้รำคาญหรือแตกตื่นด้วยเสียงดังตลอดระยะเวลาที่เป็นเทศกาลออกพรรษา   จึงขอขมาด้วยประเพณีตีช้างน้ำนองในภาคกลางวันและบูชาด้วยประทีปโดมไฟในเวลากลางคืน   คือการไหลเรือไฟ