การแต่งงาน – กินดอง Posted in วิถีชีวิต ประเพณีและวัฒนธรรม การแต่งงาน พื้นเมืองนครพนมเรียกพิธีแต่งงานว่า กินดอง หมายถึงการทำพิธีเกี่ยวดองเป็นวงศาคณาญาติกันระหว่างฝ่ายชายกับฝ่ายหญิงที่สมัครรักใคร่เป็นผัวเป็นเมียกันเริ่มแต่การสู่ขอ เตรียมงาน งานพิธีสมรส และการครองเรือนเป็นที่สุด การสู่ขอ เรียกว่า ขอเมีย เมื่อชายหญิงรักใคร่ตกลงปลงใจที่จะร่วมทุกข์สุขเป็นสามีภรรยากันแล้ว ฝ่ายชายจะบอกเล่าพ่อแม่ให้จัดญาติผู้ใหญ่เป็นเฒ่าแก่และผู้รู้ขนบธรรมเนียมดีคนหนึ่งเป็นพ่อล่าม (พ่อสื่อ) ถือดอกไม้ธูปเทียนไปร้องขอต่อพ่อแม่ฝ่ายหญิง ซึ่งนัดวันและนัดญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงไว้ที่บ้านแล้ว เพื่อว่ากล่าวให้ทราบความประสงค์ที่จะรวมเป็นทองแผ่นเดียวกันแล้วญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงจะให้ถามผู้หญิงว่ารักใคร่เต็มใจจริงหรือไม่ ตกลงกันอย่างไร และถามพ่อแม่หญิงว่า เห็นชอบและยินยอมด้วยหรือไม่ มีข้อแม้หรือเรียกร้องอย่างไร แล้วต่อรองกันในข้อต่าง ๆ ให้เป็นที่พอใจกันทั้งสองฝ่ายถ้าตกลงกันได้ก็ปรึกษาหารือกันต่อไปในเรื่อง ค่าดอง (สินสอด) ของหมั้น การเลี้ยงดูแขกและหาฤกษ์หาวันที่จะประกอบพิธีแต่งงานกันเลย ตลอดจนการตกลงกันด้วยว่า แต่งงานแล้วจะให้ฝ่ายใดไปอยู่กับฝ่ายใด เพื่อจะจัดทำพิธีให้ถูกต้อง การหมั้น ถ้าตกลงวันแต่งงานเนิ่นนานออกไป เพื่อความมั่นใจในระหว่างชายหญิง ชายต้องหาของหมั้นมาวางประกันไว้จะเป็นทองรูปพรรณหรือเงินตามจำนวนที่ตกลงกันก็ได้การเลี้ยงดูแขกจะแยกกันเลี้ยงคนละฝ่ายหรือจะเลี้ยงรวมกันจะให้ฝ่ายใด เลี้ยงฝ่ายใดออกทรัพย์ให้หญิงจัดการเลี้ยงหรือว่าต่างเลี้ยงแขกที่ตนเชิญแยกกัน วันแต่งงาน คือวันใดวันหนึ่งในเดือนคู่ข้างขึ้น คือ วันขึ้น 2 , 4 หรือ 6 ค่ำ เดือนยี่ 4 6 และ 12 เว้นเดือนในระหว่างเข้าพรรษาเมื่อสู่ขอตกลงกันแล้ว ต่างฝ่ายต่างก็เตรียมสิ่งของเครื่องใช้เครื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ ในอันที่จะประกอบพิธีแต่งงานต่อไป คือฝ่ายชายเตรียมสินสอดและอาหารการกิน หญิงเตรียมเครื่องเรือนและเครื่องนอน กับต่างฝ่ายต่างเตรียมบ้านเรือนจัดทำความสะอาด ทำพิธี ถ้าชายไปอยู่บ้านหญิงเรียกว่า ดองสู่ ทำพิธีแต่งงานที่บ้านหญิงถ้าเป็น ดองต้าน คือหญิงไปอยู่กับชาย ทำพิธีที่บ้านหญิงก่อนแล้วไปทำพิธีที่บ้านชายอีกครั้งหนึ่ง พิธีแต่งงาน มีการกระทำได้แก่ การแห่เขยหรือสะใภ้ การสู่ขวัญและการสัมมาคารวะรับคำให้พรจากเฒ่าแก่และญาติผู้ใหญ่ มีพาขวัญขันหมากสินสอดไปด้วย พวกขับลำสนุกไปข้างหน้า ต่อมาเป็นเจ้าบ่าวและเพื่อนเจ้าสาว ถัดไปเป็นพาขวัญเครื่องบริวาร และติดตามด้วยญาติพี่น้องเฒ่าแก่ และพ่อล่ามเป็นผู้ควบคุมขบวนไปด้วย เมื่อถึงประตูบ้านเจ้าสาวญาติฝ่ายหญิงจะปิดประตูบ้านไม่ยอมให้เข้า มีการสอบถามกันเป็นธรรมเนียมว่า มาอะไรอย่างไรก่อน ฝ่ายเจ้าบ่าวก็ตอบไปตามธรรมเนียม เมื่อได้คำตอบดีและหยอกล้อกันบ้างแล้ว ฝ่ายหญิงจะเปิดประตูยอมให้ฝ่ายชายเข้าไป ในการนี้ชายต้องให้รางวัลแก่ฝ่ายหญิงด้วย ก่อนจะขึ้นเรือนต้องล้างเท้าเจ้าบ่าวบนในตอบกล้วยตีบและแผ่นหิน (คือเคล็ดให้ชายให้มีใจหนักแน่นเหมือนแผ่นศิลาและให้ความสนิทเสน่หากัน เหมือนผลกล้วยตีบ ซึ่งชิดกันมาก) แล้วญาติผู้หญิงที่มีประวัติในการครองเรือนดี มารับจูงมือเขยขึ้นบ้านนำไปนั่งรอที่พาขวัญของตน ซึ่งตั้งเคียงคู่กับของหญิงท่ามกลางญาติพี่น้องมิตรสหาย ระหว่างนี้เฒ่าแก่และพ่อแม่จะนำขันหมากไปมอบแก่เฒ่าแก่ของหญิง เมื่อตรวจดูสินสอดครบถูกต้องแล้ว ก็นำเจ้าสาวมาเข้าพาขวัญพร้อมพ่อแม่ นั่งทางซ้ายของเจ้าบ่าว ต่อจากนี้ก็ทำพิธีสู่ขวัญแต่งงานตามที่กล่าว ในประเพณีสู่ขวัญแล้วมีการป้อนไข่ คือไข่ต้มจากพาขวัญมาปอกแบ่งครึ่งให้บ่าวสาวกินคนละครึ่งใบ โดยใช้มือขวาป้อนไข่ท้าว มือซ้ายป้อนไข่นาง ต่อจากนี้บ่าวสาวนำขันดอกไม้ ธูปเทียน ไปกราบไหว้ ขอสมาคารวะพ่อแม่ ญาติแขกผู้ใหญ่ที่มาเป็นสักขีพยานในงาน แนะนำสั่งสอนการครองเรือนครองรัก ปกป้องและถนอมน้ำใจกัน พร้อมกับอวยพรให้มีความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป การกินเลี้ยง กันเป็นงานใหญ่ ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายที่มาในงานเรียกว่า เจ้าโคตรลุงตา หรือ ลุงตาพาเข้า จะได้รับการเลี้ยงดูให้ทั่วถึงและเป็นพิเศษ เสร็จจากการกินเลี้ยงแล้วถ้าเป็น ดองสู่ (วิวาหมงคล) ก็นับว่าเสร็จเรียบร้อยรอแต่การส่งตัวในตอนค่ำอีกเท่านั้น แต่ถ้าเป็น ดองต้าน (อาวาหมงคล) ก็มีการแห่เจ้าสาวไปบ้านฝ่ายชายทำพิธีสู่ขวัญอีกครั้งหนึ่งเหมือนตอนสู่ขวัญเจ้าบ่าว การสู่ขวัญนี้ถ้าทำที่บ้านคู่สมรสจะอยู่กินต่อไปแล้ว บางท้องที่นิยมทำกันในห้องนอนและบนที่นอนของคู่สมรสที่ผู้ใหญ่ซึ่งมีประวัติในการครองเรือนดี ไม่มีการทะเลาะวิวาทบาดหมางกันเลยเป็นผู้ปูลาดให้ ส่วนการส่งตัวนั้นทำในตอนค่ำมีพ่อล่ามและญาติมิตรสนิท 3-4 คนนำไปส่งมอบให้เป็นการเงียบ ๆ เจ้าบ่าว เจ้าสาว ต้องร่วมบริโภคอาหารกันเป็นมื้อแรกถือว่าเป็นบุคคลในครอบครัวแล้ว