งานศพ

 

งานศพ   ชาวพื้นเมืองจังหวัดนครพนม   มีวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับงานศพที่เรียกว่า   ขอนผี (ซากศพ)   เป็นประเพณีแยกตามลักษณะอาการตายของศพนั้น ๆ อยู่   2   ประเภท   คือ   ศพตายดิบ   ได้แก่ศพที่ตายโดยปัจจุบันทันด่วน   ไม่ได้รับการรักษาพยาบาล   เช่น   ตายด้วยโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง   เช่น   อหิวาตกโรค   ไข้ทรพิษ   หรือฝีดาษ   ฯลฯ   ซึ่งเป็นการตายโดยรวดเร็วและตายกันคราวละมาก ๆ   เรียกว่า   ตายห่า   อย่างหนึ่ง   กับที่ตายโดยการฆ่าตัวตาย   ถูกฆ่าตาย   ฟ้าผ่า   ควายชน   ตกต้นไม้   จมน้ำตาย   ฯลฯ   เรียกว่า   ตายโหง   หรือ   ตายหูง   อย่างหนึ่งการตายทั้งสองอย่างนี้ร่างกายของผู้ตายยังสดชื่นสมบูรณ์อยู่จึงเรียกว่า   ตายดิบ   การทำศพประเภทนี้ใช้วิธีฝังอย่างเดียวไม่มีการเผาถือว่าต้องทำเงียบ ๆ เฉพาะในวงศ์ญาติ   หรือผู้เต็มใจช่วยเหลือรับจ้างหรือไหว้วาน   ไม่ทำเอิกเกริก   ไม่ต้องบอกกล่าวบ้านเมือง (เว้นแต่การแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่)   ไม่ต้องมีพิธีการทางศาสนาก่อนและไม่ต้องบรรจุโลงศพ (หีบศพ)   การคบงันก็ไม่ต้องมี   (การรอชันสูตรพลิกศพ   ถ้าเนิ่นนานก็นำไปเฝ้าไว้ในป่าช้า   หรือที่ตายทีเดียว)   เพราะต้องรีบทำศพให้แล้วเสร็จ   ไปโดยเร็วที่สุดที่จะเร็วได้ให้เสร็จในวันที่ตายได้ยิ่งดี   ถ้าตายในป่าเขาห่างไกลหมู่บ้านก็ไม่นำศพเข้ามาในหมู่บ้านต้องฝังไว้ในที่นั้นเลย   การจมน้ำตายถ้างมขึ้นมาได้ก็ให้ฝังบนตลิ่งแถว ๆ นั้น   ถ้าตายในบ้านหรือใกล้เคียงหมู่บ้านก็ให้ผูกมัดศพด้วยฟากไม้ไผ่   หามไปยังป่าช้าที่มีไว้เฉพาะศพประเภทนี้โดยเฉพาะ   เรียกว่า   ป่าช้าผีดิบ   หรือป่าแห้วตายดิบ   แม้การร้องไห้อาลัยถึงผู้ที่ตายจะถูกห้ามปรามมิให้ทำโจ่งแจ้ง   เพราะถือว่าเป็นการตายร้ายต้องรีบจัดการฝังศพและทำความสะอาดบ้านช่องให้เรียบร้อยเสียก่อน   แล้วจึงนิมนต์พระมาสวดมงคล   (มงคลพระปริตร)   ตั้งการทำบุญ   กินทาน   อุทิศส่วนกุศลไปให้แก่ผู้ตายได้ตามปกตินิยม   ภายหลังเวลาล่วงเลยไปนานพอสมควรแล้วจะขุดศพที่พนมมือบนอก ถือดอกไม้ธูปเทียน   แล้วใช้ด้ายดิบมัดร่างศพอีก   3   เปราะ   (ตราสัง)   เปราะแรกมัดกลางลำตัวรวบแขนและมือให้แนบชิด   เปราะที่สองมัดตรงเข่าเปราะที่สามมัดข้อเท้า   แล้วนำศพวางยาวตามตัวเรือน   (เพื่อไม่ให้เกะกะและตรงกันข้ามกับคนธรรมดานอน)   ตรงใต้ขื่อเรือน   เพราะเป็นที่แข็งแรงหันหัวศพไปทางห้องโล่งที่เรียกว่า ฮ่อง (ห้องนี้เป็นที่ไว้สิ่งเคารพสักการะ   เช่น   พระพุทธรูป   พระบรมรูปมีแท่นบูชาใช้เป็นห้องนอนของผู้ชายที่ยังโสดและแขกผู้ชายผู้หญิงไม่มีสิทธิใช้   เวลามีงานเช่นสู่ขวัญทำบุญก็ใช้เป็นทำพิธีอยู่สุด้านใดด้านหนึ่งของตัวเรือนที่ห่างจากชานและครัว)   ถ้าได้เตรียมหีบศพไว้แล้วก็บรรจุศพเข้าหีบเลย (ไม่มีการรดน้ำ)   ถ้าเป็นเวลาค่ำคืน   หรือจัดทำโลงศพ (หีบศพ)   ไม่ทันก็ใช้ไม่ไผ่ผ่าซีกถ่างคร่อมศพ   3   ระยะ   คือ   หัว   กลางตัว   ตีน   เอาผ้าผืนขาวล้อมรอบศพไว้   ผ้าข้างบนมีไม้คีบรวบริมผ้าทั้งสองเข้าหากันเป็นระยะ ๆ   เป็นการชั่วคราวรอการทำหีบศพ   ต่อจากนี้ก็ดำเนินการต่าง ๆ ไปตามนิยม   คือ ตอนเช้า   ตอนเพล   นิมนต์พระมาสวดมาติกาศพ   สวดยอดมุข   (พระอภิธรรมเฉพาะผู้สูงอายุ) ให้ศีล   ฉันอาหารหน้าศพ   ตอนค่ำนอกจากมีการสวดเช่นตอนกลางวันแล้วมีการรับศีลฟังเทศน์ด้วย   ที่หัวศพตั้งแท่นบูชาจุดธูปเทียนไว้ตลอดเวลาและแต่งสำรับกับข้าวมาเวนให้กินทุกมื้อไป   ญาติพี่น้องบ้านใต้บ้านเหนือรู้ข่าวต่างมาช่วยงาน   มีช่วยด้วยสิ่งของข้าวสาร   กะใต้   เงิน   ฯลฯ   และช่วยด้วยแรง   ตกแต่งประดับประดาหีบศพ   ตักน้ำ   ทำอาหาร   ฯลฯ   แม้ที่สุดมาอยู่ช่วยคบงันให้ครึกครื้นมิให้เงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวได้   เจ้าภาพจัดสุราอาหารมาเลี้ยงดูมิได้ขาด   ตอนกลางคืนมีการเล่นหัวคบงันตามไปไว้ตลอดรุ่ง   เปิดโอกาสให้บ่าวสาวได้พูดคุยกันได้เต็มที่   ทำดังนี้ทุกวันจนกว่าจะนำศพไปเผาที่ป่าช้า  การเอาศพไว้ที่บ้าน   อาจเป็น   3   วัน   5   วัน   หรือ   7   วันแล้วแต่กรณีที่เป็นพระสงฆ์องค์เจ้า   มีผู้คนเคารพนับถือมากเคยเอาศพไว้ถึง   15   วัน   หรือเป็นเดือนก็มี   ศพที่เอาไว้นาน ๆ   ต้องทำแข็งแรงมิดชิดเพื่อกันหีบแตกและส่งกลิ่น   โดยเอาศพลงไว้ลานบ้านทำเป็นซุงหรือต่อท่อลงใต้ดินให้น้ำเน่าไหล   ศพใดทำใหญ่โตหรือไม่   ดูได้จาก   ขอยขี้ไฟ   (ไม้ฐานรองหีบศพ)   ว่ามีกี่ชั้นจำนวนวันที่เอาศพไว้   การประดับศพ   และการทำบุญ   กินทาน   มีการบวชสามเณรหน้าศพไว้จูงศพเข้าป่าช้า   การตั้งกองบุญ   (บริขาร   8)   เพื่อบวชพระหรือรดน้ำพระสงฆ์   การทำต้นเงินกัณฑ์เทศน์กวยบัง   (บังสุกุล)   และการโปรยทาน   ส่วนการคบงันมีการเล่นแยงมะพร้าว   ขึ้นเสาน้ำมัน   มัดมือคาบสตางค์   ฯลฯ   ทำกันที่ลานบ้านเฉพาะชาย   ส่วนบนเรือนทั้งชายและหญิงมีเล่น   หมากเก็บ   หมากฟาก   จ้ำข้าว   ซ่อนของทายตีมือกัน   และการอ่านหนังสือผูก   (วรรณคดีพื้นเมืองเช่น   การะเกด   ศิลป์ไชย   เป็นต้น)   ให้เป็นการสนุกสนานแก้ง่วงเหงาหาวนอน   หรือจะมีหมอลำ   หมอแคน   ด้วยก็ได้แล้วแต่เจ้าภาพจะจัดจ้างหามา     นำศพไปเผา   เรียกว่า   ปลงศพ   ต้องมีการหาวันด้วย   ถ้าในหมู่บ้านนั้นมีคนตายหลายราย   รายที่ตายหลังสุดให้ได้จัดการปลงก่อน   แม้จะเป็นวันเดียวกันให้ก่อนเวลากัน   วันที่เป็นปากเดือน   (ขึ้น   1   ค่ำ)   และวันที่มีโศลกถูก   9   กองก็ห้ามทำการปลงศพในวันนั้น   ในวันที่จะปลงศพ   ตอนเช้าก็มีการหาที่เผาศพ   โดยใช้ข้าวนึ่งห่อไข่ดิบโดยเสี่ยงไปตกที่ไหนไข่แตกก็กะเอาตรงนั้นเป็นที่เผา   (ในป่าช้า)   ถือว่าเป็นความประสงค์ของผู้ที่ตาย   แล้วจัดการตัดฟืนมากองตรงนั้นและถางทางเข้าออกไว้ให้สะดวกแก่การหามศพไป   ตอนสายนิมนต์พระมาสวดและฉันเพลต่อหน้าศพ   แล้วทำพิธีตัดทางกล้วย   โดยผู้รู้คือให้คนในบ้านผู้ตายจับทางกล้วยปลายหนึ่งไว้อีกปลายหนึ่งแตะหีบศพ ผู้รู้เรียกว่า   หมอตัด   ว่าคาถาและกล่าวคำตัดขาดระหว่างผู้ตายกับญาติผู้ยังไม่ให้การเกี่ยวพันกันต่อไป   แล้วใช้มีดตัดทางกล้วยให้ขาดออกจากกัน   ต่อจากนี้ก็เคลื่อนย้ายศพออกจากบ้าน   (ทำประตู-บันไดผี)   นำศพไปวางบนไม้ไผ่ที่มัดคาดไว้เป็นที่หามเรียกว่า   แพยก   เมื่อขันชะเนาะศพกับแพยกให้แน่นหนา   แล้วพวกผู้ชายต่างก็พากันยกขึ้นบ่าหามศพไปป่าช้า   บนแพยกนอกจากหีบศพแล้วมีพระ 1 หรือ 2 รูป   นั่งสวดพระอภิธรรมด้วย   ข้างหน้าศพเป็นพระภิกษุและสามเณรถือด้ายชักจูงศพไปก่อนญาติพี่น้อง   และผู้มาช่วยงานทั้งชายและหญิงเดินตามข้างหลังถือสิ่งของต่าง ๆ เกี่ยวกับของถวายพระได้สำหรับจุดศพ   น้ำดื่ม   น้ำใช้ล้างมือและน้ำหอมประพรมตลอดจนของที่จะให้แก่ผู้ตาย   ระหว่างหามศพไปตามทางมีการโปรยข้าวตอกดอกไม้และหว่านสตางค์ให้ทานเป็นระยะ ๆ   ไม่มีการหยุดหรือวางศพลงต้องหามรวดเดียวให้ถึงที่เผาศพเลย   ถือว่าได้บุญกุศลยิ่ง   ถึงที่กองฟืนไว้แล้วนำศพเวียนรอบ   3   รอบ   และกระทุ้งแพศพกับกองฟืน   3   หนวางศพลงไว้ข้าง ๆ กองฟืนที่เรียกกันว่า   กองฟอน   มีการให้ศีลและเทศน์ต่อหน้าศพเป็นครั้งสุดท้าย   ถวายปัจจัยเครื่องทานก่อน   แล้วเปิดหีบศพออกล้างหน้าศพด้วยน้ำมะพร้าว   และน้ำหอมตอนนี้อนุญาตให้ญาติพี่น้องผู้ตายได้ดูหน้าศพด้วย   มีแต่ระลึกถึงคุณงามความดีตั้งหน้าพยายามทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แล้วยกศพขึ้นจากโลก   วางบนกองฟอนตัดด้ายที่ผูกมัดออกเอาหีบศพทะลุพื้นขึ้นวางคร่อม   หรือตัดด้ายมัดแล้วยกหีบศพขึ้นวางเลยก็ได้   ตัดไม้ไผ่   แพหามวางพาดหีบศพทั้งสองข้างเพื่อกันตกเรียกว่า   ไม่ข่มแหง   จัดแจงดีแล้ว   พระมาสวดปลงอนิจจา ชัดผ้าบังสกุลศพออกแล้วทำการจุดศพให้เป็นประเดิมและกลับไปก่อน   ต่อจากนั้นต่างคนต่งเข้าไปเผาศพ   คือนำธูปเทียน   ไต้   ที่หาติดมือไปต่อไฟที่เจ้าภาพติดไว้   (ห้ามต่อไฟจากันเอง)   นำไปใส่ที่กองฟอนข้างบนพร้อมด้วยฟืนและเศษไม้เพื่อให้ไฟติดแต่ข้างบนลงมา   สิ่งของใดที่จะให้แก่ผู้ตายก็นำเข้าไปเผาด้วยเว้นแต่สิ่งใดเห็นว่าจะนำไปถวายวัด   หรือให้ทานแก่คนอื่น   ในขณะที่ไฟกำลังลุกไหม้   มีการละเล่นบางอย่างอีกด้วย   เช่น   ชกมวย   จำอวด   แย่งของ   เป็นต้น   เมื่อเห็นวาไฟลุกติดศพดีแล้ว   จึงแยกย้ายกันกลับเหลือไว้แต่ญาติผู้ใกล้ชิดเพื่ออยู่ดูแลไฟให้ไหม้ศพจนหมด   ผู้ที่ไปเผาศพแล้วกลับมาต้องเดินผ่านเข้าวัดเสียก่อน   หรือไม่ก็กลับไปบ้านของคนที่ตาย   มีการจ้ำข้าวทิ้งและล้างมือด้วยน้ำขมิ้นเสียก่อน   เป็นการปัดรังควานและให้เกิดความสุขสวัสดี

คืนวันเผาศพ   ส่วนที่บ้านผู้ตายเมื่อยกศพไปป่าช้าแล้ว   มีการทำความสะอาดปัดกวาดเช็ดถูให้เรียบร้อย   เตรียมข้าวให้ผู้กลับจากเผาศพจ้ำและหาน้ำขมิ้นไว้ล้างมือดังกล่าวแล้วตอนเย็นมีการสวดมงคล   (มงคลพระปริตร)   และคบงานต่อไปอีก   3   คืน   หรือจะย่นย่อลงเพียงคืนเดียวก็ได้   ตอนกลางวันเข้าเพลทำสำรับกับข้าวไปถวายพระที่วัดทุกวัน   จำนวนพระที่นิมนต์มาจำนวนพระคี่   5   ,   7   หรือ   9   รูป   (ถือเคล็ดคี่อยู่คู่หนี)

วันสุดท้ายตอนกลางวันมีการทำปราสาทผึ้งต้นเงินกัณฑ์เทศน์   หรือกองบุญ   (บริขารแปด)   ตั้งคบงันกันตามประเพณี   ชาวบ้านส่วนมากจะเรียกว่างันเฮือนดีกันตลอดคืนมีการละเล่นต่าง ๆ อาทิเช่นหมอลำ   หมอแคน   ตามที่เจ้าภาพจะจัดหามาหรือการพูดจาตลกขบขัน   หัวเราะเฮฮา   เพื่อเป็นการผ่อนคลายความโศกเศร้าของญาติได้และยังมีการหาข้าวน้ำเวนให้แก่ผู้ตายไว้หน้าบ้านทุกคืนด้วย   รุ่งเช้านำด้ายสายสิญจน์ที่สวดแล้วโยงล้อมรอบตัวเรือน   นิมนต์พระไปยังป่าช้าที่เผาศพเพื่อเก็บกระดูก   เจ้าภาพนำหม้อดินใหม่สำหรับใส่อัฐิ   ผ้าขาวและด้ายผูกปิดปากหม้อ   ไม้หลักและจอบเสียมไปด้วย   ใช้น้ำรดกองไฟให้ดับและเห็นกระดูกปรากฏชัดขึ้นมา   พระและญาติต่างช่วยกันใช้ทางกล้วย   คีบกระดูกที่ใหญ่และสำคัญใส่ลงในหม้อได้พอสมควร   แล้วกวาดมูลเถ้าและเศษกระดูกรวมแปรเป็นรูปคนยกเอาหม้อกระดูกวางบนส่วนหน้าอกของรูปที่ทำ   จุดธูปเทียนติดปากหม้อ   พระสวดชักบังสุกุล   สวด อนิจฺจา   วัตสงฺขารา   ให้เห็นว่าสังขารเป็นของไม่เที่ยง   เมื่อเกิดแล้วย่อมมีแก่เจ็บตายเป็นธรรมดาอย่าพึงประมาท   จบแล้วใช้ผ้าและด้ายปิดผูกปากหม้อ   ขุดหลุมในที่เผาฝังเถ้าถ่านและเศษกระดูกหรือใส่ถุงนำไปลอยอังคาร   ส่วนหม้อกระดูกนำไปฝากไว้ที่วัดรอการบรรจุหรือนำไปฝังรวมไว้ในป่าช้าที่กันไว้เป็นที่ฝังกระดูก   ส่วนหนึ่งปักไม้หลักไว้เป็นเครื่องหมายให้รู้   เสร็จแล้วกลับบ้านรับศีล   ถวายอาหาร   ฟังเทศน์   และถวายเครื่องจตุปัจจัยไทยทานต่าง ๆ   นับเป็นเสร็จพิธีทำศพเพียงเท่านี้