จากความเชื่อในเรื่อง “พญานาค” สำหรับชาวพุทธแล้วถือเป็นเรื่องที่ถูกเล่าขานกันมานานทั้งในพุทธประวัติก็ดี ตลอดจนเรื่องราวจากบรรดาเกจิอาจารย์หลายรูปก็ดี จึงไม่น่าแปลกใจถ้าจะกล่าวว่า “พญานาค” ถือเป็นส่วนหนึ่งสำหรับชีวิตของคนไทยและอีกหลาย ๆกรณีที่เกิดขึ้นจากความเชื่อความศรัทธา จากความเชื่อและความศรัทธาของทั้งพี่น้องชาวไทยและชาวลาวเกี่ยวกับองค์พญานาคที่คอยดูแลปกปักษ์รักษาผู้คนในแถบลุ่มน้ำโขงและองค์พระธาตุพนม กล่าวคือ ทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาวต่างมี กษัตริย์แห่งนาคราช หรือ นาคาธิบดี แยกปกครองดูแล
ฝั่งลาว คือ พญาศรีสัตตนาคราช (นาคาธิบดีสีสัตตนาคบาดาล) ซึ่งเชื่อว่าเป็นกษัตริย์แห่งพญานาคฝั่งลาว เป็นพญานาคเจ็ดเศียร ฝั่งไทย คือ พญาศรีสุทโธนาคราช (นาคาธิบดีสีสุทโธ) เป็นกษัตริย์พญานาคฝั่งไทย เป็นพญานาคหนึ่งเศียร พญาศรีสุทโธ ท่านชอบจำศีลบำเพ็ญเพียร และปฏิบัติธรรม มีนิสัยอ่อนโยนมีเมตตา ไม่ชอบการต่อสู้ ชอบมาปฏิบัติธรรมที่พระธาตุพนม โดยมอบหมายให้เหล่าพญานาค 6 อำมาตย์ดูแลแทน ในระหว่างที่หลบมาจำศีลภาวนา
และทางจังหวัดนครพนม จึงออกแบบและก่อสร้าง “องค์พญาศรีสัตตนาคราช” โดยการวางแผนออกแบบก่อสร้างนานเกือบ 5 ปี เพื่อเป็นนิมิตหมายอันดีในการสร้างสัญลักษณ์เมืองขึ้น และได้ทำการประกอบพิธีอัญเชิญองค์พญาศรีสัตตนาคราชขึ้นประดิษฐาน ท่ามกลางประชาชนชาวไทยและลาว ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง และ พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง จ.นครพนม และพระสงฆ์จากวัดใกล้เคียงมาร่วมในพิธี โดยทางจังหวัดได้ทำพิธีสมโภชใหญ่ พุทธาภิเษก รวม 9 วัน 9 คืน ระหว่างวันที่ 9 – 18 กันยายน 2559 ที่ผ่านมาถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่ยิ่งใหญ่ จะมีสาวงามจาก 7 ชนเผ่าของแต่ละอำเภอกว่า 400 คนมารำบวงสรวงตลอด 9 วัน9 คืนอีกด้วย
ภายใต้ความเชื่อเกี่ยวกับ “องค์พญาศรีสัตตนาคราช” ซึ่งเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของ จ.นครพนม อย่างที่ทราบกันว่าพี่น้องชาวไทยและชาวลาว ล้วนมีความเชื่อผูกพันอยู่กับองค์พญานาค พอๆ กับความผูกพันในลำน้ำโขง รุ่นปู่ย่าล้วนศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของพญานาคในฐานะที่เป็นผู้ดูแลปกปักษ์รักษาแถบลุ่มน้ำโขง รักษาพุทธศาสนา รวมถึงองค์พระธาตุพนม ซึ่งเป็นองค์พญานาคทองเหลืองที่ใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน แน่นอนว่าจากประติมากรรมที่สูงค่าผนวกกับความเชื่อความศรัทธาที่มีต่อองค์พญาศรีสัตตนาคราช ย่อมส่งผลให้จังหวัดนครพนม ดินแดนแห่งลุ่มน้ำโขงกลายเป็นแลนด์มาร์คสำคัญที่สร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจของจังหวัดอย่างไม่อาจปฏิเสธ ณ บริเวณที่ประดิษฐานองค์พญานาค ลานศรีสัตตนาคราช ริมฝั่งแม่น้ำโขงหน้าสำนักงานป่าไม้ ถนนสุนทรวิจิตร ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม
แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดนครพนม ศูนย์กลางท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง องค์พญาศรีสัตตนาคราช หล่อด้วยทองเหลือง มีน้ำหนักรวม 9,000 กก. เป็นรูปพญานาคขดหาง 7 เศียร ประดิษฐานบนแท่นฐานแปดเหลี่ยม กว้าง 6 เมตร ความสูงทั้งหมดรวมฐาน 15 เมตร สามารถพ่นน้ำได้ วัตถุประสงค์การก่อสร้างครั้งนี้เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี และความเชื่อเกี่ยวต่อเรื่องพญานาคของชาวไทย และชาวลาวที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง อีกทั้งยังต้องการยกระดับแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนม เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งสถานที่แห่งนี้จะกลายเป็นแลนมาร์กแห่งใหม่อีกจุดหนึ่งของภูมิภาคนี้
ซึ่งล่าสุดในการส่งท้ายปี 2559 ของ จ.นครพนม สุดคับคั่ง ผู้คนแห่กราบขอพรพญาศรีสัตตนาคราชแน่น นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างประเทศพากันหลั่งไหลมาพักผ่อนในวันหยุดยาว ประชาชนในพื้นที่ทำบุญตักบาตรพระ จากนั้นก็ไปกราบไหว้บูชาพญาศรีสัตตนาคราช ขอพรรับโชคกันอย่างคึกคัก และสถานีที่แห่งนี้ ยังเป็นการแสดงถึงอำนาจและการกระจายความเจริญรุ่งเรืองไปสู่นานาประเทศ โดยจะตั้งเด่นเป็นสง่าท่ามกลางทิวทัศน์อันงดงามริมแม่น้ำโขง และที่สำคัญองค์พญาศรีสัตตนาคราชองค์นี้ จะไม่มีที่ใดเหมือนเพราะมีสร้อยสังวาล คล้องคอ เหมือนกับลวดลายที่ซุ้มประตูขององค์พระธาตุพนม เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของจังหวัดที่สืบสานต่อเนื่องมายาวนาน
คำบูชาพญาศรีสัตตนาคราช
จุดธูป ๑๙ ดอก
ว่า นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ (๓ จบ)
คำอธิษฐานบูชา
กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสาวา, อิมัง สิริสัตตะนาคะ ราชะนามะกัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา สัพพะโสตถี ภะวันตุ เม.
คำแปล
ข้าพเจ้า ขอน้อมกาย วาจาและจิตใจ กราบไหว้วันทา พญานาคะราช นามว่า ศรีสัตตนาคราชตนนี้ ขอความสุขสวัสดี จงบัง เกิดมีแก่ข้าพเจ้าทุกเมื่อเทอญ
…………..
เครื่องสักการะขอพร “พญาศรีสัตตนาคราช”
1 ธูปหอม 19 ดอก
2 พวงมาลัยดอกมะลิ 1 พวง
– อื่นๆ ตามจิตศรัทธา เช่นมะพร้าวน้ำหอม 1 ลูกเป็นต้น
// งดถวายของคาวทุกประเภท