บายศรีสู่ขวัญ


บายศรีสู่ขวัญ

ประเพณีที่คนในท้องถิ่นยึดถือปฏิบัติส่วนบุคคล
                        ในการดำรงชีวิตของประชาชนชาวจังหวัดนครพนม   มีขนบธรรมเนียมประเพณีนิยมกันหลายอย่างคล้ายคลึงกับชาวไทยในจังหวัดใกล้เคียง   มีวิธีปฏิบัติในการประกอบกิจการต่าง ๆ   เป็นหลักการและความมุ่งหมายเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย   และเพื่อให้บังเกิดความสุขสวัสดิภาพต่อไปนี้
                        การสู่ขวัญ   (บายศรี)   เป็นประเพณีการเรียกขวัญให้มาอยู่กับเนื้อกับตัวและอวยพรให้อยู่เย็นเป็นสุข   มีอายุมั่น   ขวัญยืน   มีความเจริญก้าวหน้า   และประสบโชคชัย   นิยมทำกันเสมอในโอกาสต่าง ๆ เช่น เมื่อหายจากการเจ็บไข้ได้ป่วย   เมื่อคลอดบุตรแล้วจะออกไฟ   เมื่อมีกิจ
ธุระต้องเดินทางไกลหรือจากบ้านไปนาน ๆ   แล้วกลับมาเมื่อขึ้นบ้านใหม่   และเมื่อทำการบวชนาคและทำพิธีแต่งงาน   เป็นต้น   จะทำเป็นงานเล็กน้อยภายในครอบครัวระหว่างญาติมิตรที่สนิทสนมกัน   หรือจะทำเป็นงานใหญ่เชิญแขกเหรื่อออกหน้าออกตา   เช่น   การสู่ขวัญวันแต่งงาน   การบายศรีข้าราชการเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่มาเยี่ยมหรือย้ายไป
                        เครื่องใช้   ในการทำพิธีมีพาขวัญ   (พานเครื่องขวัญ)   ประกอบด้วยขันหมากเบ็ง (บายศรี)   ที่ประดับด้วยดอกไม้ธูปเทียน   ข้าวเหนียวนึ่งสุรากลั่น   ไข่ไก่ต้ม   ไก่ต้มทั้งตัว   หรือหมูต้ม   (เฉพาะหัว   หาย   และตีนทั้งสี่)   เครื่องใช้ประจำตัวของผู้รับขวัญ   มีผ้าห่มนอน   กระจก   หวี   และมีด้ายสำหรับผูกข้อมือเป็นจำนวนมาก   สิ่งของเหล่านี้จัดอยู่ในพานขวัญ   ถ้ามีมากชั้นก็งานใหญ่คือ   1 ชั้น   3 ชั้น   5 ชั้น   ถึง   7 ชั้นเป็นที่สุด   นอกจากนี้มีหมากพลู บุหรี่   น้ำดื่ม   สุราอาหารและกับแกล้มสำหรับแขกและเลี้ยงผู้มาในงาน
                        สถานที่   ประกอบพิธีสู่ขวัญโดยปกติใช้ห้องโถงภายในบ้านเรือน   หรือลานบ้านกลางสนามแล้วแต่จะเหมาะสมกับงานที่จัด   ตั้งพานขวัญบนผ้าห่มนอนของผู้รับขวัญ   สิ่งของบริวารอื่น ๆ ตั้งไว้ข้างเคียงกัน   เวลาทำพิธีก็แตกต่างกันตามลักษณะงานที่ทำเป็นต้นว่า   สู่ขวัญเมื่อออกไฟทำในเวลาเช้า      ขึ้นเรือนใหม่ทำในเวลาเช้า   หายป่วยไข้ทำในเวลาค่ำ   เมื่อแต่งงานทำในเวลาตามกำหนดวันเป็นต้น   เมื่อพร้อมเพรียงกันแล้วก็เข้านั่งล้อมรอบพาขวัญ   หมอสูตร   (ผู้รู้ทำพิธี)   พ่อแม่ญาติพี่น้องผู้ใหญ่นั่งด้านเหนือ   ผู้รับขวัญและญาติมิตรแขกเหรื่อนั่งล้อมด้านล่างเริ่มพิธีโดยช่วยกันยกพาขวัญขึ้น   หมอสูตรกล่าวว่าจะทำการสู่ขวัญให้แก่ผู้ใด   ด้วยเหตุใดแล้วจุดธูปเทียนเปิดจุกขวดสุรา ประนมมือสวดคำเรียกขวัญ   และอำนวยอวยพรเป็นทำนอง   คนรับขวัญและบุคคลอื่นที่นั่งพับเพียบประนมมือฟังโดยสงบเสียงเคารพ   มีการเปล่งเสียงรับในตอนเรียกขวัญเป็นการสนับสนุนบ้าง    สวดจบแล้วทำการฟายเหล้า   (เจิมมือด้วยน้ำสุรา)   ต่อจากนี้นำฝ้ายผูกแขน   (ด้ายผูกข้อมือ)   มาผูกให้แก่ผู้รับขวัญเป็นคนแรก   แล้วพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ผูกให้ตามลำดับขณะที่ผูกแขนต้องหงายมือข้างที่ผูกแตะพาขวัญ   มีข้าวขวัญ   ไก่ขวัญ   ฯลฯ   ให้ถืออีกมือหนึ่งยกขึ้นเสมออกเป็นการเคารพรับขวัญ   และคำอวยพรคนอื่น ๆ จับข้อมือถือแขนหรือแตะเสื้อผ้าติดต่อกัน
                        คำสวด   ในการเรียกขวัญอวยพรขณะที่ฟายเหล้าและผูกข้อมือ   ถ้อยคำ   สำนวนโวหารอันไพเราะคล้องจองกันมีคาถาแทรก   ฟังแล้วรู้สึกศักดิ์สิทธิ์และซาบซึ้งตรึงใจ   อ้างอำนาจคุณพระรัตนตรัยและอิทธิฤทธิ์ของเทพยดาอารักษ์มีหลายแบบหลายสำนวนต่างกันไปตามลักษณะที่งานที่ทำขวัญ   เมื่อผูกข้อมือกันเสร็จแล้วก็นับว่าเสร็จพิธี   ต่อจากนี้ก็มีการกินเลี้ยงกันด้วยสุราอาหาร   และสนทนาปราศรัยต่อกันเป็นที่สนุกสนาน   เบิกบานใจ   หรือจะมีการละเล่นอย่างใดอีกให้รื่นเริงตามแต่เจ้าภาพจะเห็นควรและจัดขึ้น   พอสมควรแก่เวลาแล้วก็อำลากลับไป
                        การส่อนขวัญ   เป็นประเพณีโบราณอย่างหนึ่งที่กำลังจะสูญหายไป   วัตถุประสงค์ของพิธีกรรมนี้ก็คือเป็นการให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ
                        ส่อน   หมายถึง   ตักเอา   ช้อนเอา   เมื่อผู้ใดประสบอุบัติเหตุ เช่น ตกจากที่สูง   โค   กระบือชนก็จะเสียขวัญหรือขวัญเสียความตกใจกลัวยังไม่หายไป   เวลานอนก็จะสะดุ้งหรือละเมออยู่ทำให้พ่อแม่และญาติพี่น้องเกิดความสงสาร   จึงจัดทำพิธีส่อนขวัญให้แก่ผู้ได้รับอุบัติเหตุเพื่อเป็นการบำรุงขวัญ
                        เครื่องส่อนขวัญมีสวิงที่ใช้ตักหรือช้อนกุ้ง   ปลา   หรือจะใช้ผ้าสี่เหลี่ยมก็ได้   ไข่ไก่ต้มสุกแล้ว   1   ฟอง   ข้าวเหนียวสุกก้อนขนาดไข่เป็ด   1   ก้อน   ข้าวต้มและขนมอื่น ๆ   ตามแต่จะหาได้เส้นฝ้ายสำหรับผูกข้อมือจำนวนหนึ่ง   เสื้อผ้าของผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ   1   ชุด   เมื่อเตรียมสิ่งของต่าง ๆ พร้อมแล้วนำไปใส่ไว้ในสวิงหรือผ้าสี่เหลี่ยม   ให้ผู้อาวุโสซึ่งอาจเป็น พ่อ   แม่   ปู่   ย่า   ตา   ยาย   ลุง   ป้า   น้า   อา   ของผู้ประสบอุบัติเหตุคนใดคนหนึ่งก็ได้ยกสวิงหรือผ้าที่บรรจุเครื่องส่อนขวัญไว้แล้วไปยังบริเวณที่เกิดเหตุยืนอยู่สักครู่ยกของขึ้นกล่าวว่า   เจ้าแม่ธรณ๊เจ้าที่เจ้าทางแห่งนี้เอย   วันนี้เวลา…(นาย/นาง/เด็กชาย/เด็กหญิง)…ได้มาประสบอุบัติเหตุ   ณ   ที่แห่งนี้ขณะนี้ยังเจ็บป่วยอยู่จึงได้มาส่อนเอาขวัญของ…ที่ยังตกค้างอยู่   ณ   ที่แห่งนี้กลับคืนไปอยู่กับเนื้อกับตัวของเขา   จากนั้นก็ใช้มือสองมือจับสวิงตักไปมาพร้อมกับพูดว่า   ขอให้ผู้ป่วยจงหายเจ็บป่วยโดยเร็ว   ดารใดที่ผู้ป่วยล่วงเกิน   พระแม่ธรณี   และเจ้าที่เจ้าทางก็ขออโหสิกรรมด้วย   เสร็จแล้วเอามือข้างหนึ่งลดจากขอบสวิงโอบรัดรอบ ๆ   สวิงหรือผ้า   อุ้มเอาสิ่งของต่าง ๆ   ในสวิงกลับไปบ้านผู้ป่วย   (ห้ามแวะที่อื่น)   ในขณะนี้บรรดาญาติของผู้ป่วยกำลังห้อมล้อมคอยอยู่   เมื่อไปถึงบ้านผู้ป่วยแล้วเอาสวิงหรือห่อผ้าที่บรรจุสิ่งของนั้นไปแตะที่ตัวผู้ป่วย   ผู้ไปส่อนขวัญและบรรดาญาติจะพูดพร้อม ๆ กันว่า   เออ…ขวัญเจ้าได้คืนมาอยู่กับเนื้อกับตัวเจ้าแล้ว   ขวัญเอยมาเดอ…ขอห้าหายป่วยหายเคราะห์โดยเร็ว   จากนั้นก็วางสวิงหรือห่อผ้าลงที่พื้น   หยิบเอาสิ่งของออกมา   เสื้อผ้าถ้าสวมใส่ได้ก็ใส่เลย   ถ้าใส่ไม่ได้เพราะป่วยหนักก็วางไว้ข้าง ๆ   คนเฒ่าคนแก่คนหนึ่งเอาข้าวเหนียวนึ่ง   ไข่ไก่ต้ม   ข้าวต้ม   และขนมใส่มือผู้ป่วย   ผูกแขนเรียกขวัญผู้ป่วยให้มาอยู่กับเนื้อกับตัว   บรรดาญาติก็ทยอยเข้ามาผูกข้อมือจนหมดทุกนคเป็นอันเสร็จพิธีการส่อนขวัญ