พระธาตุมหาชัย พระธาตุประจำวันเกิดวันพุธ (กลางวัน)

 

สิ่งของที่ใช้สักการะบูชาพระธาตุมหาชัย
“ข้าวตอก น้ำอบ ข้าวเหนียวปิ้ง ดอกบัว ธูป 17 ดอก เทียนขาว 2 เล่ม”

คำกล่าวบูชาพระธาตุมหาชัย
(ตั้ง นะโม 3 จบ)
“อิมัสมิง เจติเย สะราชินิยา ภูมิพะละมะหาราเชนะ ฐะปิตัง พุทธะสารีริกะธาตุญจะ อัญญาโกณทัญญะ
สารีปุตตะ โมคคัลลานะ มหากัจจายะนะ อานันทะ อะนุรุทธะ ระโสสัตเถรานัง โฆสปัญญัตเถเรนะ ฐะปิตานิ อัฏฐีนิ จะ สิระสา นะมามิ”

 

ประวัติความเป็นมา

พระธาตุมหาชัยองค์เดิม สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2518 โดยดำริของหลวงปู่ หลังจากที่หลวงปู่ได้นำพาญาติโยมมาสร้างบ้านมหาชัย และสร้างวัดโฆษการาม ต่อมาจึงดำริที่จะสร้างพระธาตุขึ้น
เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวพุทธ โดยได้รับความร่วมมือจากญาติโยมชาวตำบลมหาชัยทุกหมู่บ้านได้นำเอาหินลูกรัง และดินมากองรวมกันให้เป็นเนินสูงเพื่อจะให้เป็นฐานพระธาตุ
จนได้เนินสูงพอสมควร ต่อมาได้มีหน่วยงานของทางราชการมาช่วย เช่น หน่วยงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (ร.พ.ช.) ได้นำรถแทรกเตอร์มาช่วยทำฐานพระธาตุเพียงหยาบๆ จนได้ฐานพระธาตุกว้าง 17 เมตร ยาว 23 เมตร สูง 4.50 เมตร การสร้างพระธาตุหลวงปู่ ได้ดำเนินการสร้างแบบค่อยเป็นค่อยไป อาศัยกำลังจากญาติโยมและพระภิกษุสามเณรในวัด

พ.ศ. 2512 ศิษย์หลวงปูคนหนึ่งคือพระมหาเฉวต วชิรญาโณ จำพรรษาอยู่ที่นครเวียงจันทน์ประเทศลาวได้เดินทางมาเยี่ยมนมัสการหลวงปู่และได้นำเอาพระอรหันตสารีริกธาตุ ของพระอัญญาโกณฑัญญะปฐมสาวก ถวายแด่หลวงปู่เพราะเลื่อมใสเห็น ว่าหลวงปู่กำลังสร้าง พระธาตุ

พ.ศ. 2514 หลวงปู่ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์พระธาตุขึ้น โดยได้อาราธนาพระเทพรัตนโมลี เจ้าคณะจังหวัดนครพนมในสมัยนั้นมาเป็นประธานในพิธีสงฆ์ ทางฝ่ายบ้านเมืองได้เชิญ พลตรี ยง ณ นคร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธาน แต่ท่านผู้ว่าฯ ติดราชการจึงให้พันตรี อรุณ สังฆบรรณ ปลัดอำเภอ ผู้เป็นหัวหน้ากิ่งอำเภอปลาปาก มาทำหน้าที่เป็นประธานแทน  เมื่อเสร็จจากพิธิวางศิลาฤกษ์แล้ว ได้ลงมือก่อสร้างองค์พระธาตุโดยพระมหาเฉวต วชิรญาโณ เป็นช่าง และนายทองดี ศรีสุวงค์  เป็นผู้ช่วย ได้ก่อสร้างขึ้นมาจนเป็นพระธาตุรูป 8 เหลี่ยม สูงประมาณ 7 เมตร ในการก่อสร้างองค์พระธาตุได้อาศัยกำลังทรัพย์จากญาติโยมชาวตำบลมหาชัย และตำบลใกล้เคียงได้บริจาคในรูปปัจจัยบ้าง  วัสดุก่อสร้างบ้าง เช่น หิน ซึ่งถากเป็นแผ่นๆ กว้าง 15 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร หนา 10 เซนติเมตร

พ.ศ. 2515 นายพิศาล มูลศาสตร์สาทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมสมัยนั้นเดินทางมาตรวจเยี่ยมชุดคุ้มครองตำบลมหาชัย ท่านได้เห็นพระธาตุ และเห็นความพร้อมเพรียงของชาวบ้านที่ช่วยกันก่อสร้างพระธาตุจึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาได้เข้ามากราบนมัสการ หลวงปู่และ ได้ปวารณาตัวขอเป็นผู้อุปถัมภ์  ต่อมาท่านได้ให้นายช่างหน่วยเร่งรัดพัฒนาชนบทเขียนแบบแปลนพระธาตุขึ้นนำเสนอหลวงปู่ และได้ดำเนินการก่อสร้างองค์พระธาตุตามแบบแปลนจนเป็นผลสำเร็จสวยงาม

พ.ศ. 2517 พลตำรวจโทวิศิษฐ์ เดชกุญชร (ยศในขณะนั้น) ราชองครักษ์ในพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมค่ายคุ้มครองตำบล ( ช.ค.ต.) และชุดปฏิบัติการช่วยเหลื่อประชาชน (ป.ช.ป.)  ท่านได้มาเห็นองค์พระธาตุก็เกิดความเลื่อมใส ได้ถามประวัติความเป็นมาขององค์พระธาตุจนถึงการก่อสร้าง และกำหนดวันแล้วเสร็จหลังจากนั้นท่านได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2518  ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จ พระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินทรงนำพระบรมสารีริกธาตุ มาบรรจุไว้ที่องค์พระธาตุมหาชัย และทรงเวียนเทียนรอบ องค์พระธาตุด้วยพระองค์เองพร้อมด้วย ข้าราชบริพาร และพสกนิกรฯ

 

ข้อมูลจำเพาะ (พระธาตุองค์เดิม)
ฐานและองค์พระธาตุรูปทรงแปดเหลี่ยม ฐานพระธาตุกว้าง 32 เมตร ยาว 32 เมตร มี 2 ชั้น ชั้นล่างสูง 2.50 เมตร ชั้นบนสูง 2 เมตร ฐานพระธาตุภายนอกใช้หินแม่รังแผ่นโต ๆ นำมาถากเป็นแผ่นจำนวนทั้งหมด 5,320 แผ่น แต่ละแผ่นกว้าง 15 ซ.ม. ยาว 30 ซ.ม. หนา 10 ซ.ม. องค์พระธาตุสูง 10.50 เมตร รวมทั้งฐานสูง 15.00 เมตร รวมทั้งฉัตร สูง 16 เมตร

 

พระธาตุมหาชัยองค์เดิม

 

 

ประวัติองค์พระธาตุองค์ปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2536 หลวงปู่ได้ดำริที่จะสร้างองค์พระธาตุเจดีย์ครอบองค์เดิม จึงได้ทำหนังสือถึงสำนักพระราชวังเพื่อขออนุญาตสร้างพระธาตุเจดีย์ครอบองค์เดิมต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่พระองค์ทรงครองราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี พ.ศ. 2539  หลังจากนั้นจึงได้ดำเนินการก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นในลักษณะองค์เดิม คือมีรูปทรงแปดเหลี่ยม โดยครอบองค์เดิม  ระยะห่างจากองค์เดิมกว้าง 1 เมตร พระธาตุที่สร้างครอบนี้สูงรวมฐาน 37 เมตร  ที่คงรูปทรงแปดเหลี่ยมนั้นมีความหมายเป็นปริศนาธรรมของหลวงปู่ คือ พระธาตุรูปทรงแปดเหลี่ยม หมายถึงมรรคมีองค์แปด และที่สูง  37 เมตร หมายถึง ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ 37 ประการ (โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ) มรรค 8 มี สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ , สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ , สัมมาวาจา เจรจาชอบ , สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ , สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ , สัมมาวายามะ  ความเพียรชอบ , สัมมาสติ ระลึกชอบ , สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ได้แก่ สติปัฏฐาน 4, สัมมัปปธาน 4 , อิทธิบาท 4, อินทรีย์ 5, พละ 5, โพชฌงค์ 7 , มรรคมีองค์ 8 , องค์พระธาตุมหาชัยองค์ใหม่ที่สร้างครอบองค์เดิมนั้น สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวฯ โปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรม โอรสาธิราชสยามกุฎราชกุมาร  ผู้แทนพระองค์เสด็จยกฉัตรพระธาตุเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539

แผนที่การเดินทาง