แสกเต้นสาก
แสกเต้นสากและโอกาสในการแสดง
การแสดงแสกเต้นสากชาวแสกจะไม่แสดงบ่อยนัก ตามประเพณีชาวแสก จะแสดงการเต้นสากในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งตรงกับประเพณี “กินเตรท” หรือ “วันตรุษญวน” ในวันนี้ ชาวแสกทั้งหมดจะพากันนำดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวปลาอาหารไปพร้อมกันที่ศาลเจ้าที่ ชาวแสกเรียกว่า “ศาลองมู่” ซึ่ง “องมู่” นี้เป็นบรรพบุรุษที่ชาวแสกเคารพนับถือมาก จะทำกิจการใดก็มักจะไปบนบาน ศาลกล่าวเสมอและว่ากันว่าศักดิ์สิทธิมาก
เมื่อชาวแสกนำข้าวปลาอาหารทยอยกันไปที่ ” ศาลองมู่ ” ศาลนี้จะตั้งอยู่ ทางตะวันออกติดริมฝั่งแม่น้ำโขง ลักษณะเหมือนศาลพระภูมิทั่วๆ ไป มีไฟประดับให้สวยงามในวันงาน รอบๆ ศาลจะมีไม้ทำเป็นดาบ ทาสีอยู่รอบศาล สันนิษฐานว่าแสดงถึงความสามารถ ในด้านการต่อสู้ซึ่งสามารถนำประชาชน พรรคพวกตนมาหาชัยภูมิอันเหมาะสมได้ หลังจากนั้นก็ จะมีพิธีบวงสรวงวิญญาณบรรพบุรุษ
พิธีบวงสรวงวิญญาณบรรพบุรุษ
พอชาวแสกมาพร้อมกันแล้ว “หมอเยา” หรือ “หมอเหยา” จะทำพิธีบวงสรวงโดยการ จุดธูปเทียนเทเหล้าใส่จอก และเชิญ “องมู่” มารับของที่นำมาบวงสรวงเป็นภาษาแสก
ต่อจากนั้นก็เป็นพิธีโยนเหรียญ ซึ่งลักษณะเหรียญจะเป็นเหรียญแบบโบราณ หรือสตางค์ แดงทาสีขาวด้านเดียว จำนวนสองเหรียญ หมอเหยาหรือ หมอเยา จะโยนเหรียญขึ้นเพี่อ เสี่ยงทายว่าที่จัดพิธีในวันนี้ขึ้น และขออนุญาตถ่ายรูปจะได้ไหม และพอใจกับการกระทำนี้ไหม แล้วก็โยนเหรียญลงกับพื้นหากเหรียญตกลงหงายด้านเดียวกัน สีขาวเหมือนกันหรือดำเหมือนกัน แสดงว่าไม่พอใจ ถ้าหากเหรียญสองเหรียญต่างกัน แสดงว่าอนุญาติหรือพอใจ ถ้าหากเหรียญ เหมือนกันคือไม่พอใจ ต้องทำพิธีใหม่และเสี่ยงอีกครั้งจนกว่าจะพอใจ
ศาลองมู่
เป็นที่สักการะของชาวแสก ซึ่งได้จัดทำพิธีบวงสรวงวิญญาณบรรพบุรุษขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ลักษณะของศาลคล้ายศาลพระภูมิทั่วไป แต่มีกระดาษเลี่ยมอยู่รอบๆ ศาลจะจัดตกแต่งประดับประดาเมื่อมีงานพิธี
สำรับที่ใช้สำหรับถวาย “องมู่”
สำรับที่ใช้สำหรับถวายองมู่ ได้แก่ เหล้าโรงอาหารคาวหวาน ดอกไม้ ธูปเทียน หากชาวแสกจัดพิธีใดขึ้นก็ต้องบอกกล่าวแก่องมู่ก่อน เชื่อกันว่า หากไม่บอกล่าวให้องมู่ทราบก่อนชาวแสกผู้นั้นจะต้องมีอันเป็นไป
การแสดงเต้นสากของชาวแสก
หลังจากเสร็จพิธีบวงสรวงองมู่แล้ว ชาวแสกก็จะนำสากตำข้าว (สมัยโบราณ) ลักษณะคอดตรงกลาง ปัจจุบันเป็นแบบตรง วางบนไม้แท่นแล้วกระทบกัน ให้เป็นจังหวะที่ไม้กางออกซึ่งจะมีอยู่ประมาณ ๑๐ – ๒๐ คู่ มาเต้นบวงสรวง การแสดงเต้นสากนี้จะเผยแพร่ ให้ผู้อื่นที่มิใช่ชาวแสกไม่ได้เด็ดขาด หากผู้ใดสนใจ ก็จะศึกษาค้นคว้า ก็ต้องขออนุญาตจาก “องมู่” ก่อน
การแต่งกายในการแสดง
หากจะต้องอาศัยแสดงเต้นสากโชว์หรือพิธีสำคัญๆ ชาวแสกจะต้องแต่งกาย ดังนี้ เสื้อ แขนกระบอกสีดำ ผ้านุ่งผ้าถุงยาวกรอมเท้า ผ้าคาดเอว หรือเข็มขัด ทำด้วยผ้าตีนจก สไบ ห่มสไบสีแดงทับ เครื่องประดับ สร้อย ต่างหู เท่าที่หาได้
เครื่องดนตรีประกอบการเล่น
เครื่องดนตรีที่ใช้ในการเต้นสาก ไม่มีอะไรมากมีเท่าที่หาได้ เช่น กลอง ฉิ่ง ฉาบ เพราะเหตุที่ไม่มีดนตรีประกอบนี้เอง จึงทำให้ไม่ค่อยมีผู้นิยมมากนัก
ความเชื่อด้านไสยศาสตร์
ชาวแสกนับถือ “ผี” แบบชาวอีสานทั่วไป จะมีพิเศษก็ตรงจะสานตะกร้าด้วยไม้ไผ่ ซ่อนไว้หรือชุกไว้ในมุมใดมุมหนึ่งของบ้าน เพื่อให้ผีได้มาพักอาศัยอยู่ในนั้น เวลาเจ็บป่วยก็จะมีหมอเหยามาทำพิธีคล้ายกับ “รำปอบผีฟ้า” หรือ “รำผีฟ้า” และรักษากับสมุนไพร ปัจจุบันชาวแสกก็ดำเนินชีวิตเหมือนชาวอีสาน
www.nakhonpanom.com