เอ่ยถึง พระบาง ใคร ๆ ก็คงนึกถึงพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของลาว ที่ประดิษฐานในเมืองหลวงพระบางในปัจจุบัน เพราะพระบางองค์นั้นมีประวัติยาวนานเกี่ยวข้องกับทั้งราชอาณาจักรกัมพูชา ลาว และสยาม ซึ่งตามตำนานเล่าว่าสร้างขึ้นในลังกาทวีป หลังจากพระพุทธองค์ดับขันธ์ปรินิพานไปแล้ว ๔๖๓ ปี และอยู่ลังกาทวีปนานถึง ๙๖๓ ปี ก่อนมีการอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ กรุงอินทปัตถนคร (เขมร) ครั้นถึงสมัยพระเจ้าฟ้างุ้มแหล่งหล้าธรณี แห่งนครเชียงทอง(หลวงพระบาง) จึงได้อัญเชิญแห่แหนมาไว้ในลาว ณ เมืองเวียงคำก่อน และต่อมาในสมัยพระเจ้าวิชุลราชจึงได้อัญเชิญพระบางไปประดิษฐาน ณ เมืองหลวงเชียงทองล้านช้างร่มขาว เมืองนั้นจึงได้ชื่อเมืองหลวงพระบางสืบมา
ในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชพระองค์ได้ย้ายเมืองหลวงของราชอาณาจักรล้านช้างลงมายังนครเวียงจันทน์ในปี พ.ศ.๒๑๐๓ พระองค์ได้อัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์นี้ลงมาสถิต ณ กรุงเวียงจันทน์ด้วย รวมเวลา พระบางอยู่ในเวียงคำ ๑๔๓ ปี อยู่ในหลวงพระบาง ๒๐๒ ปี จึงมาสถิตในเวียงจันทน์ดังกล่าว
ในปี ๒๓๒๒ (อ้างอิงตาม ประวัติพระบาง เขียนโดย จันทะพอน วันนะจิด) เกิดสงครามกับสยาม(สมัยกรุงธนบุรี) พระบาง พร้อมพระแก้วมรกต จึงถูกอัญเชิญไปสยาม(ไทย)ประดิษฐานไว้ที่กรุงธนบุรี จนถึงปี พ.ศ. ๒๓๒๕ พระเจ้านันทเสนจึงได้ขอพระบางคืนสู่ลาว สถิต ณ เวียงจันทน์อีกครั้งหนึ่ง ได้ ๔๕ ปีก็ถูกแย่งชิงกลับไปไว้ในกรุงเทพฯของสยามอีกครั้งหนึ่ง และได้กลับมายังลาวอีกในสมัยของ พระเจ้าจันทราช ปกครองหลวงพระบางซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงมีพระราชานุญาตให้อัญเชิญพระบางกลับสู่ลาว โดยออกจากกรุงเทพแล้วขึ้นไป ตามลำน้ำโขงทางเมืองปากลาย แขวงไชยบุรี ถึงหลวงพระบาง และประดิษฐาน ณ เมืองนั้นเป็นที่สักการบูชาเลื่อมใสของชาวลาว และชาวพุทธทั่วไปมาจนปัจจุบัน
จะเห็นว่า พระบาง เป็นพระพุทธรูปที่มีความสำคัญต่อคนบนสองฝั่งโขงมายาวนาน และที่จะเล่าถึงพระบางที่วัดไตรภูมิองค์นี้เพราะเห็นมีชื่อพ้องกัน ลักษณะก็คล้ายกันมากมาก และเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของผู้คนแถบนี้ไม่แพ้กัน ที่สำคัญมีประวัติการสร้างจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงด้วย
พระบาง วัดไตรภูมิ อ.ท่าอุเทน จ. นครพนม เป็นพระพุทธรูปยืน ปางห้ามสมุทร สูง ๘๐ นิ้ว ประดิษฐานอยู่บนฐานรูปแปดเหลี่ยม สูง ๑๕ นิ้วรองรับด้วยรูปช้าง ๘ เชือก องค์พระหล่อด้วยโลหะหลายชนิดที่หลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน เช่น ทอง นาค เงิน ทองคำขาว และทองแดง เป็นต้น ที่รัดประคต(สายรัดเอว)มีนิลฝังอยู่เป็นระยะ ๆ ที่พระนาภีมีเพชรขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๐.๕ นิ้วฝังอยู่(ปัจจุบันหายไป) องค์พระและฐานสร้างเป็นส่วนแยกออกจากกันได้ สามารถถอดออกได้ เป็น ๕ ชิ้น คือ พระรัศมี พระเศียร พระหัตถ์ซ้าย-ขวา ลำตัว และฐานแปดเหลี่ยม
รอบฐานของพระบางวัดไตรภูมินี้มีจารึกด้วยอักษรลาวเก่า(ไทน้อย)อ่านได้ความว่า “สมเด็จพระเหมะ วันทา กับทั้ง อัง เต วา สิ อุบาสก อุบาสิกา ได้ร่วมแรง ร่วมใจกันสร้างพระนี้ขึ้นมา มีขนาดเท่าตัวคน เพื่อให้ไว้ เป็นที่ สักการะ บูชา เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๐๐๘ ตรงกับปีวอก เดือน ๓ ขึ้น ๙ ค่ำ วันศุกร์…”
ตามประวัติแล้ว พระบางวัดไตรภูมิมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง จากวัดบ้านคก แขวงคำเกิด
ขอให้เราคิดถึงประชาชนบนสองฝั่งแม่น้ำโขงโดยตัดความเป็นชาติ เป็นประเทศออกไป เราจะเห็นภาพความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน โดยแม่น้ำโขงไม่เคยขวางกั้น ยิ่งในเรื่องประเพณี วัฒนธรรมที่ต้องตุ้มโฮม(รวมน้ำใจ)กันแล้ว ถือเป็นปกติที่จะข้ามไปข้ามมาหาสู่ การอัญเชิญพระพุทธรูปจากฝั่งนั้นไปฝั่งนี้ จากฝั่งนี้ไปฝั่งนั้นเป็นไปด้วยศรัทธาโดยแท้ พระบางวัดไตรภูมิก็ถูกอาราธนามาด้วยเหตุนี้ เช่นกัน
ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๐ เจ้าเมืองหินบูน แขวงคำเกิด มีความรักและเคารพพระอาจารย์หงษ์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่วัดพระธาตุ ท่าอุเทน เป็นภิกษุที่มีผู้นับถือเลื่อมใสกันทั้งสองฝั่งโขงอยู่แล้ว เจ้าเมืองหินบูน และคณะจึงได้อัญเชิญพระบางจากบ้านคก ตำบลหินเหิบ มามอบให้ท่านและประดิษฐานไว้ที่วัดพระธาตุท่าอุเทน และต่อมาได้ย้ายมาที่วัดไตรภูมิจนถึงปัจจุบัน