พระติ้ว พระเทียม วัดโอกาสศรีบัวบาน

 ที่ตั้ง   อยู่ที่วัดโอกาสศรีบัวบาน   อำเภอเมือง   จังหวัดนครพนม

ประวัติความเป็นมา

ตามตำนานกล่าวว่า   ในสมัยโคตรบูรณ์มีราชธานีตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำโขงระหว่างเทือกเขาหินบูน (ประเทศลาว)   และเทือกเขาภูพาน   มีเจ้าผู้ครองนคร   พระนามว่า   พระเจ้าศรีโคตรบูรณ์หลวง
การคมนาคมสมัยนั้น   ทางน้ำจะใช้เรือหรือแพเป็นยานพาหนะ   พระเจ้าศรีโคตรบูรณ์หลวง   จึงสั่งให้นายช่างชาวบ้านกองลอ   (อยู่ในประเทศลาว)   ไปหาไม้มาขุดทำเรือช่างทำเรือจากบ้านกองลอก็ได้ข้ามแม่น้ำโขงมาหาไม้ในดงเซกา (ปัจจุบันคือบ้านนากลาง   ตำบลนาทราย)   ได้ไม้ตะเคียนจึงขุดทำเรือแล้วเตรียมชักลากลงสู่ฝั่งแม่น้ำโขง   การชักลากในสมัยนั้นต้องใช้ไม้หมอนกลมตัดเป็นท่อน ๆ เป็นลูกล้อหมุนท้องเรือแล้วทำการลากเรือนั้นมีไม้ท่อนหนึ่งกระเด็นออกมาข้างนอกไม่ยอมให้เรือทับ   เมื่อนำกลับเข้าไปรองใหม่ก็กระเด็นออกมาอีกถูกพวกชักลากเรือเจ็บไปตาม ๆ กัน   ช่างทำเรือเห็นว่าไม้ท่อนนั้นเป็นไม้น่าอัศจรรย์   จึงได้กราบทูลเรื่องราวให้พระเจ้าโคตรบูรณ์หลวงทรงทราบ
พระเจ้าศรีโคตรบูรณ์หลวงทรงพิจารณาเห็นว่า   ไม้ท่อนนี้เป็นพญาไม้   ถึงไม่ยอมให้เรือทับ   พระองค์จึงโปรดให้นายช่างนำไปแกะเป็นรูปพระพุทธรูปปางมารวิชัย   หน้าตักกว้าง 30 เซนติเมตร   สูง 60 เซนติเมตร   แล้วลงรักปิดทอง   เมื่อจุลศักราชได้ 147 ตัว ปีไก้   ซึ่งตรงกับวันอังคาร เดือน 7 แรม 8 ค่ำ   ปีกุน พ.ศ. 1328   โปรดให้มีพิธีสมโภชเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของนครศรีโคตรบูรณ์

ต่อมาในสมัยพระเจ้าขัตติวงศาบุตรมหาฤาชัยไตรทศฤาเดชเชษฐบุรี   ศรีโคตรบูรณ์หลวงเป็นเจ้าผู้ครองนครศรีโคตรบูรณ์ขณะนั้น   พระติ้วประดิษฐานอยู่ที่วัดธาตุ   บ้านสำราญ   ได้เกิดเพลิงไหม้   หอพระแลวิหาร   ชาวบ้านไม่สามารถนำพระติ้วออกมาได้   จึงกราบทูลให้พระเจ้าขัตติวงศาทราบ   พระองค์มีรับสั่งให้หาไม้ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์   ประชาชนเคารพนับถือมาแกะเป็นองค์พระแทนองค์เดิม   ชาวบ้านจึงหาไม้ได้ที่ดอนหอเจ้าปู่ตา   ให้ช่างแกะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดเท่าองค์เดิมลงรักปิดทอง   แล้วสมโภชเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองแทนพระติ้วที่เข้าใจว่าถูกไฟไหม้ไปแล้ว

หลังจากนั้น 2 – 3 ปีต่อมา   ชาวบ้านสำราญจำนวนหนึ่งไปหาปลากลางแม่น้ำโขง บริเวณหัวดอน   ขณะนั้นมีลมบ้าหมู (ลมหมุน)   เกิดขึ้นกลางแม่น้ำโขง   จึงนำเรือไปหลบที่ดอนเฝ้าดูเหตุการณ์   เห็นวัตถุหนึ่งลอยหมุนวนในน้ำที่ถูกลมบ้าหมูพัด   พอลมสงบจึงพากันออกเรือไปดูพบว่าวัตถุนั้นคือ   พระติ้วองค์ก่อนั่นเอง   พวกชาวบ้านต่างยินดีเป็นอย่างยิ่งจึงอัญเชิญพระติ้วไปทูลเกล้าถวายพระเจ้าขัตติยวงศา   พระองค์ทรงปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง   มีพระราชศรัทธาประทานทองคำหนัก 30 บาท ให้ช่างบุทองทั่วทั้งองค์พระและประทานนามพระองค์เดิมว่า พระติ้ว   ประทานนามที่สร้างใหม่ว่า   พระเทียม   พระติ้วและพระเทียมจึงเป็นพระคู่เมืองของศรีโคตรบูรณ์ตลอดมา

ตลอดมาพระบรมราชพรหมา   ได้เป็นเจ้าผู้ครองเมืองนครศรีโคตรบูรณ์มีพระราชศรัทธาบูรณปฏิสังขรณ์สำนักสงฆ์วัดศรีบัวบาน   และได้อัญเชิญพระติ้ว   พระเทียม   ซึ่งเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์   จากบ้านสำราญ   มาประดิษฐานที่วัดศรีบัวบาน พ.ศ. 2281   แล้วให้ชาวบ้านสำราญ   บ้านหนองจันทร์   บ้านเมืองเก่า   บ้านดงหมู   รวมทั้งบ้านนาเมือง   บ้านม่วงสุ่ม   แขวงคำม่วนในปัจจุบัน   เป็นข้าโอกาสคอยปรนนิบัติ   รักษาพระติ้ว   พระเทียม   พร้อมกับเปลี่ยนนามวัดศรีบัวบานเป็นวัดโอกาสจนถึงปัจจุบัน

พระติ้ว   พระเทียม   จึงประดิษฐานอยู่ที่วัดโอกาสตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ชาวนครพนมจะจัดสรงน้ำพระติ้ว   พระเทียม   ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6  แรม 1 ค่ำ   เดือน 6 เป็นประเพณีสืบมาทุกปี