พระอินทร์แปลง


ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา พบว่า มีพวกมารศาสนาและมิจฉาชีพจำนวนมาก พยายามจะลักลอบเข้ามาขโมยองค์พระพุทธรูป จนเป็นเหตุให้เมื่อเสร็จกิจของสงฆ์ภายในวัดแล้ว ประตูอุโบสถจะถูกปิดลงในทันที ทำให้ชาวบ้านที่จะเข้ามาสักการะหรือบนบาน เป็นไปด้วยความยากลำบาก

ส่งผลให้คนรุ่นหลังแทบไม่ทราบเลยว่า มีพระพุทธรูปคู่เมืองนครพนมมานับพันปี ประดิษฐานอยู่ ณ ที่วัดแห่งนี้

“หลวงพ่อพระอินทร์แปลง” เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย ตามตำนานเล่าว่า ในปี พ.ศ.1390-1393 พระหน่อหลักคำ อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 1 มีความประสงค์จะจัดสร้างพระประธาน ขนาดหน้าตักกว้าง 59 นิ้วขึ้นมาองค์หนึ่ง เพื่อประดิษฐานไว้ในอุโบสถ

แต่ปรากฏว่าสร้างไม่สำเร็จ เพราะไม่ว่าจะหล่อกี่ครั้งก็ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะเศียรเป็นรูอัปลักษณ์ จนช่างหล่อพระและเจ้าอาวาส ตลอดจนญาติโยมพากันหมดกำลังใจ จึงเลิกล้มและปล่อยให้เป็นพระเศียรขาดอยู่อย่างนั้นส่วนทองที่เหลือได้นำไป หล่อเป็นพระพุทธรูปขนาดต่างๆ แทน

อย่างไรก็ตาม การที่เอาพระพุทธรูปเศียรขาด ตั้งประดิษฐานไว้ สร้างความกระทบกระเทือนใจของชาวพุทธที่พบเห็นเป็นยิ่งนัก ด้วยเหตุดังกล่าวพระหน่อหลักคำ จึงได้ขอให้ชาวบ้านช่วยกันก่ออุโมงค์ดินครอบองค์พระเอาไว้ จนเป็นที่มาขอชื่อวัดอุโมงค์ในอดีตนั่นเอง

ส่วนเหตุที่ตั้งชื่อวัดว่า วัดพระอินทร์แปลง ตามตำนานเล่าอีกว่า เจ้าอาวาสรูปเดิมได้นิมิตฝันว่า มีพระอินทราธิราช พร้อมด้วยเทพยดา เหาะเสพมโหรีแห่เศียรพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะสวยงามลงมาจากสรวงสวรรค์ แล้วแปลงกายเป็นชีปะขาวเสด็จลงมาช่วยหล่อและลงมือแกะบล็อกเอง โดยให้พระและญาติโยมช่วยกันสูบทองต้มทอง ส่วนท่านเป็นผู้เทเศียร แล้วนำไปต่อกับพระศอ ก่อนที่พระอินทราธิราชจะเสด็จหายไป

หลังจากที่พระหน่อหลักคำตื่นจากฝัน จึงเล่าให้ญาติโยมฟัง ทุกคนจึงลงความเห็นทันที ว่า พระอินทร์เสด็จลงมาช่วย

ตามตำนานยังมีเรื่องเล่าขานถึงความอัศจรรย์ของหลวงพ่อพระอินทร์แปลง โดยย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 70 ปี ทุกวันพระ 15 ค่ำ จะพบลูกไฟขนาดผลส้มโอ สีนวลสว่าง ลอยข้ามไปยังพระธาตุศรีโคตรบอง เมืองท่าแขก ประเทศลาว

กระทั่งจวนรุ่ง จึงลอยกลับคืนมา และเมื่อสมัยสงครามไทย-ฝรั่งเศส ลูกปืนที่ยิงข้ามแม่น้ำโขงมาจากฝั่งลาว ไม่สามารถกล้ำกรายที่วัดได้เลย แต่ที่อื่นโดนลูกปืนพรุนไปหมด พอสงครามสงบลง ชาวบ้านลงไปงมหอย กลับพบว่าลูกปืนจมเกลื่อนใต้แม่น้ำเต็มไปหมด

ด้วยพุทธลักษณะของหลวงพ่อพระอินทร์แปลง หากมองเวลากลางวันสีพระพักตร์จะเหลืองอร่ามเป็นเงาวับสดใสไม่มีหมองมานานนับ พันปี ผิดกับพระพุทธรูปอื่นๆ ที่ต้องคอยขัดถูพระพักตร์เป็นประจำ

ส่วนในเวลาใกล้ค่ำหรือกลางคืน สีพระพักตร์ของหลวงพ่อจะเปลี่ยนไปคล้ายกับว่ามีสีทองอมเขียวทึบ คล้ายมรกต อิ่มเอิบมีอำนาจ น่าเคารพเลื่อมใส

ผู้ที่ได้มากราบไหว้ รวมทั้งได้บนบานศาลกล่าวจากหลวงพ่อพระอินทร์แปลง จะประสบความสัมฤทธิผล โดยเฉพาะด้านหน้าที่การงาน การสอบแข่งขัน ของหายได้คืน และขอให้หายเจ็บไข้
คอลัมน์ เดินสายไหว้พระพุทธ
ชนะ วสุรักคะ  ที่มา…

 

“วัดพระอินทร์แปลง” ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร อ.เมือง จ.นครพนม ตั้งเมื่อ พ.ศ.2393 เดิมชื่อว่า “วัดอุโมงค์”

ที่ตั้ง    วัดพระอินทร์แปลง   อำเภอเมือง   จังหวัดนครพนม
ประวัติ   พระอินทร์แปลงนั้นคนเฒ่าคนแก่เล่าว่า   พระอินทร์แปลงพระองค์ลงมาหล่อองค์พระจึงได้ชื่อว่า   พระอินทร์แปลง   หลวงพ่อพระอินทร์แปลงมีอายุประมาณ 1,000 ปี

จากหลักฐานที่ค้นพบที่แท่นพระพุทธรูปเก่าแก่   ซึ่งสันนิษฐานว่า   คงเป็นพระหล่อจากเศษของสิ่งเหลือจากการหล่อหลวงพ่อพระอินทร์แปลงแล้ว   จากการขุดพบเมื่อราว พ.ศ. 2475 – 2476 ปรากฏว่าไดพบพระพุทธรูปทองคำ   จำวน 12 องค์   ลูกธาตุจำนวน 150 อัน และอักษรที่เขียนเป็นตัวธรรมจารึกไว้ที่ฐานพระพุทธรูปมีใจความว่า   พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1373 ปีระกา   วันศุกร์   เดือน 6   ขึ้น   6   ค่ำ   พระหน่อหลักคำเป็นผู้เขียนจารึก

พระหน่อหลักคำหรือหลวงพ่อหลักคำ   เป็นเจ้าอาวาสในสมัยนั้นเห็นว่า   วัดของท่านยังไม่มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่พอที่จะนำมาประดิษฐานเป็นพระประธานจึงได้บอกบุญไปยังญาติโยมถึงการที่จะหล่อพระประธาน   ชาวบ้านพากันดีใจ   นำทองของตนเองไปบริจาคกันมากมายจนกระทั่งถึงวันที่จะหล่อพระมีหลวงพ่อหลักคำเป็นผู้เททองเป็นองค์แรก   ต่อไปก็เป็นชาวบ้าน   เมื่อทองเหลือก็นำไปหล่อเป็นพระพุทธรูปองค์เล็กองค์น้อย   พอได้เวลาแกะดินซึ่งเป็นแม่พิมพ์ออกหลวงพ่อหลักคำให้กะเทาะส่วนล่างออกก่อน   คือส่วนที่นั่งขัดสมาธิขึ้นไปถึงพระอุระ   (อก)   พร้อม ๆ   กับพระกร (แขน)   ทั้งสองข้าง   จนกระทั่งถึงพระอังสา (บ่า)   แล้วยังเหลือหุ้มเฉพาะส่วนพระศอ (คอ)   เท่านั้น   อยู่ ๆ พระเศียร   (หัว)   ของพระพุทธรูปก็หล่นลงมา   หาได้ติดต่อกับส่วนพระศอไม่   สร้างความตกใจ   และผิดหวังแก่หลวงพ่อหลักคำและญาติโยมเป็นอย่างมากถึงอย่างไรก็ตามหลวงพ่อก็ยังคิดว่าที่ส่วนไม่ต่อกันนั้นเพราะทองไหลไม่สะดวกนั่นเองคงไม่เป็นไร   ต่อเข้าทีหลังก็ได้   ท่านก็เลยสั่งให้กะเทาะกันออกดู   ด้วยหวังว่าจะได้เห็นพระเศียรพระพุทธรูปที่งดงาม   แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ   ไม่มีเศียรพระพุทธรูปอยู่ในแบบพิมพ์นั้นเลย   และที่น่าอัศจรรย์ใจกว่านั้นคือ   ไม่มีทองอยู่ในนั้นแม้แต่นิดเดียว   ทองในส่วนพระเศียรของพระพุทธรูปองค์นี้หายไปไหนหมด   และหายไปได้อย่างไร

หลังจากนั้นไม่นาน   การเททองหล่อเฉพาะเศียรพระก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง   ชาวบ้านต่างให้ความสนใจมากเพราะอยากรู้ว่าจะเหมือนครั้งแรกหรือไม่   และเมื่อแกะแม่พิมพ์ออกทุกคนก็ร้องออกมาด้วยความผิดหวัง   เพราะปรากฏว่าทองที่หล่อลงไปนั้น   ไม่ได้มีรูปร่างเป็นเศียรพระแต่มีลักษณะบิดเบี้ยวผุกร่อน

ความล้มเหลวในครั้งนี้   หาได้ทำให้หลวงพ่อหลักคำเกิดความท้อใจไม่   ภายใต้จิตสำนึกของท่านยังคงมีมานะมุ่งมั่นที่จะพยายามหล่อเศียรพระประธานองค์นี้ให้สำเร็จให้จงได้
สำหรับพระพุทธรูปเศียรขาดนี้ท่านได้สั่งให้นำไปตั้งไว้หลังพระอุโบสถ   ก็อธิษฐานถือปูนโบกด้วยดินเหนียวทำเป็นรูปอุโมงค์ครอบองค์พระไว้   แล้วเอาผ้าขาวคลุมองค์พระอีกชั้นหนึ่ง
จนกระทั่ง   ในปี พ.ศ. 1394   คืนหนึ่งท่านหลวงพ่อหลักคำฝันเห็นพระอินทร์นำเอาเศียรพระพุทธรูปมาที่อุโมงค์นั้นแล้วนำมาต่อเข้ากับองค์พระเสร็จแล้ว   เหาะหายขึ้นไปบนท้องฟ้า   หลวงพ่อหลักคำตื่นขึ้นมาด้วยความประหลาดในว่าฝันไปหรืออย่างไร   แต่ก็วิ่งไปดูที่องค์พระปรากฏว่าพระพุทธรูปนั้นมีเศียรแล้วจริง ๆ อาจกล่าวได้ว่า   พระพุทธรูปองค์นี้   พระอินทร์เป็นผู้ลงมาสร้างให้ก็ไม่ผิด   เพราะพระพักตร์นั้นงามล้ำทุกอย่างประณีตงดงามเหมือนเนรมิต

กระทั่งใน พ.ศ.1637 สมัยเจ้าครูอุด อดีตเจ้าอาวาสวัด เห็นว่าอุโมงค์ได้รื้อทิ้งแล้ว จนสร้างเป็นสิม (อุโบสถ) จึงเปลี่ยนชื่อใหม่ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกวัดแห่งนี้ ว่า “อินแปง” ตามชื่อพระประธานมาหลายยุคสมัย

จนมาถึงในปี พ.ศ.2470 กรมการศาสนา มีการสำรวจวัดทั่วราชอาณาจักร เพื่อขึ้นทะเบียนไว้ในทำเนียบวัด โดยให้ใช้ชื่อว่า “วัดพระอินทร์แปลง” ตั้งแต่ปีนั้นมาถึงปัจจุบัน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2485 โดยมีพระครูอินทรกัลยาณคุณ เป็นเจ้าอาวาส

ในอุโบสถวัด มีพระพุทธรูปประธานศักดิ์สิทธิ์ มีนามเรียกขานว่า “หลวงพ่อพระอินทร์แปลง” เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะที่สวยงาม และมีประวัติการสร้างเป็นตำนานเล่าขาน