พระธาตุท่าอุเทน เป็นพระธาตุประจำวันเกิด วันศุกร์

“พระธาตุท่าอุเทน เป็นพระธาตุประจำวันศุกร์ เทวดาแห่งความอิสระ รักสวยรักงาม มีความคิดริเริ่มสูง”

สิ่งของบูชาพระธาตุ
ธูป 21 ดอก เทียน 2 เล่ม  พวงมาลัย  ดอกไม้  ผ้าสีฟ้า น้ำอบไทย ข้าวเหนียวปิ้ง ข้าวพอง

คาถาบูชาดวงประจำวันเกิด วันศุกร์
วา โธ โน อะ มะ มะ วา  (ชื่อคาถาพระพุทธเจ้าตวาดหิมพานต์ ใช้ในทางเมตตามหานิยม ประจำอยู่ทิศอุดร (ทิศเหนือ))

คำนมัสการพระธาตุท่าอุเทน
(ตั้งนะโม 3 จบ)

ทิศตะวันออก
ปุริมายะ ทิสายะ นทีติเร อุเทนะรัฏฐัสมิง อายัสสะมันเต สีทัตเถนะ ฐาปิตัง พุทธะสารีริกะธาตุง สิระสานะมามิ

ทิศเหนือ
อุตตะรายะ ทิสายะ นทีติเร อุเทนะรัฏฐัสมิง อายัสสะมันเต สีทัตเถนะ ฐาปิตัง พุทธะสารีริกะธาตุง สิระสานะมานิ

ทิศตะวันตก
ปัจฉิมายะ ทิสายะ นทีติเร อุเทนะรัฏฐัสมิง อายัสสะมันเต สีทัตเถนะ ฐาปิตัง พุทธะสารีริกะธาตุง สิระสานะมานิ

ทิศใต้
ทักขิณายะ ทิสายะ นทีติเร อุเทนะรัฏฐัสมิง อายัสสะมันเต สีทัตเถนะ ฐาปิตัง พุทธะสารีริกะธาตุง สิระสานะมานิ

 

              องค์พระธาตุมีลักษณะเป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม สูง 33 วา จำลองแบบมาจากพระธาตุพนมองค์เดิมแต่มีขนาดเล็กกว่า เรือนธาตุมีสองชั้นลดหลั่นกันขึ้นไป แต่ละชั้นมีซุ้มประตูหลอกทั้งสี่ทิศเหนือซุ้มประตูมีทับหลังเป็นปูนปั้นลายดอกบัวบาน รูปบุคคล และสัตว์ต่าง ๆ โดยมีลายพรรณพฤกษาเป็นพื้นหลังตามกรอบซุ้มประตูบนเรือนธาตุก็มีลายพรรณพฤกษาประดับอยู่เช่นกัน ภายในองค์ธาตุเป็นอุโมงค์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพระอาจารย์สีทัตถ์ได้ อัญเชิญมาจากเมืองย่างกุ้งประเทศพม่า นอก จากนี้ยังมีพระพุทธรูปทองคำ และของมีค่าอื่น ๆ ที่ผู้ศรัทธานำมาถวาย บรรจุไว้ในองค์ธาตุด้วยบนกำแพงแก้ว รอบองค์ธาตุมีประติมากรรมปูนปั้นฝีมือของพระอาจารย์สีทัตถ์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสุภาษิตคำพังเพยพื้นบ้าน ตลอดจนการจำลองนรก-สวรรค์

วัดพระธาตุท่าอุเทน ตั้งอยู่ในเขต ตำบลท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ภายในวัดแห่งนี้ปรากฏโบราณสถานสำคัญคือ พระธาตุท่าอุเทน ซึ่งไม่ปรากฏ ประวัติการก่อสร้างที่แน่ชัด ทราบประวัติเท่าที่มีจารึกไว้ที่กำแพงพระธาตุ (ตัวอักษรไทยน้อย) ซึ่งกล่าวว่าท่านอาจารย์สีทัตถ์ ได้เป็นหัวหน้าชักชวนพระภิกษุสงฆ์และชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันก่อสร้างขึ้น เมื่อปี
พ.ศ. ๒๔๕๔ ใช้เวลาทั้งสิ้น ๖ ปี จึงแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๕๙

พระธาตุท่าอุเทนมีลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนอยู่ในผังสี่เหลี่ยม กล่าวกันว่าจำลองแบบมาจากพระธาตุพนม แต่มีสัดส่วนขององค์ธาตุที่เล็กกว่า และมีความสูงกว่าพระธาตุพนม บริเวณฐานและชั้นเรือนธาตุมีลายปูนปั้นงดงามภายในองค์พระธาตุก่อ ๓ ชั้น ชั้นแรกอยู่ด้านในสุดก่อเป็นอุโมงค์เพื่อบรรจุสิ่งของมีค่าต่าง ๆ ชั้นที่ ๒ ก่อครอบอุโมงค์ สูงประมาณ ๕ วา ชั้นที่ ๓ ซึ่งเป็นชั้นนอกสุดก่อเป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่ สูง ๓๓ วา

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ส่วนซุ้มประตูชั้นล่างขององค์พระธาตุด้านทิศใต้ได้พังทลายลงกรมศิลปากรจึงได้ทำการบูรณะจนแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ พร้อมทั้งได้ทำการเสริมคานคอนกรีตภายในเพื่อป้องกันองค์พระธาตุพังทลาย

เชื่อกันว่าผู้ที่เกิดวันนี้เป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รักอิสระ รักสวยรักงามพระธาตุองค์นี้มีสิ่งที่ตรงกับเทพประจำวันศุกร์ คือพระธาตุหันไปทางทิศเหนือของพระธาตุพนม ตรงกับทิศประจำของพระศุกร์ ผู้ที่ไปนมัสการพระธาตุแห่งนี้จะได้รับอานิสงส์ให้ชีวิตมีความรุ่งโรจน์ เปรียบเสมือนพระอาทิตย์ขึ้นยามรุ่งอรุณ วัดพระธาตุท่าอุเทน ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ และกำหนดขอบเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๕ ตอนพิเศษ ๔ง หน้า ๒ ลงวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๑ มีพื้นที่ประมาณ ๒ ไร่ ๒ งาน ๘๙.๔๘ ตารางวา

สำหรับการเดินทางไป นมัสการพระธาตุท่าอุเทนนี้ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 212 หรือถนนชยางกูร (อุบล-หนองคาย) จากตัวอำเภอเมืองจังหวัดนครพนมไปยังอำเภอท่าอุเทน ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ผ่านจุดก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว โดยตัวพระธาตุนั้นตั้งอยู่ในเขตตัวอำเภอสามารถมองเห็นได้ยอดพระธาตุได้ในระยะไกล และอยู่ตรงข้ามกับเมืองหินบูรณ์ แขวงคำม่วงสปป.ลาว นอกจากนั้นยังมีแหล่งท่องเที่ยวอีกหลายแห่ง เช่น ตลาดนัดไทย-ลาว ทุกเช้าวันจันทร์ แม่น้ำสองสี ปากน้ำไชยบุรี(น้ำสงคราม-น้ำโขง) ตลาดปลาน้ำโขง น้ำสงคราม ปลาส้ม ส้มปลาโด ตลาดนัดสับปะรดทุกวัน ป่าชุมชนดงกะแสน ฯลฯ

 

แผนที่การเดินทาง