พระธาตุประสิทธิ์ เป็นพระธาตุประจำวันเกิด วันพฤหัสบดี

พระธาตุประสิทธิ์ ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุประสิทธิ์ อำเภอนาหว้า ระยะทางห่างจากจังหวัดนครพนม 93 กิโลเมตร เดิมเป็นเจดีย์โบราณไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2436 ได้มีการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ โดยจำลองรูปทรงมาจากองค์พระธาตุพนม ลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยม วัดโดยรอบฐานได้ 20.80 เมตร สูง 28.52 เมตร ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตสารีริกธาตุรวม 7 องค์ พระพุทธรูปเก่าแก่ดินจากสังเวชนียสถานในประเทศอินเดีย 4 แห่ง และพระพุทธบาทจำลองที่อัญเชิญมาจากกรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ.2500 ตามตำนานบอกไว้ว่าพระธาตุประสิทธิ์นี้มีพระเป็นผู้สร้าง และเทพประจำวันพฤหัสบดีพระฤๅษี พราหมณ์ผู้เฒ่า ที่สำคัญพระประธานของวัดอยู่ประจำทิศตะวันตก ตรงกับพระพฤหัสบดี ที่อยู่ทิศตะวันตกเช่นกัน

 

อานิสงส์ ส่งผล
พระธาตุประสิทธิ์ถือเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้เกิดวันพฤหัสบดี เชื่อกันว่าผู้ที่ไปนมัสการพระธาตุประสิทธิ์ จะได้รับอานิสงส์ส่งผลให้สัมฤทธิ์ผลในการปฏิบัติงาน

สิ่งของบูชาพระธาตุ
ข้าวตอก น้ำอบ ข้าวเหนียวปิ้ง ดอกไม้สีส้ม ธูป 19 ดอก เทียน 2 เล่ม

คำนมัสการพระธาตุประสิทธิ์
(ตั้งนะโม 3 จบ)
ชัมพุเขตตะคาเม ฐิเต อิมัสมิง อารามเขตเต เทวะระตะนะโมสึติ ราชะทินนะ นามะเกนะ กันโตภาสะมะหาเถเรนะ สัทธิง เถรานุเถเรหิ อิมัสมิง พุทธะปะระสิทธิเจติเย อานีตัง ฐาปิตัง
จตุตทะสะ พุทธะธาตุญจะ จะตุสังเวชะนียะมัตติกัญจะ สิระสา เม นะมานิ สัพเพปิ อะนุตะรายา เม มาเหสุง ตัสสะ เตชะสา

ประวัติความเป็นมา

วัดธาตุประสิทธิ์ แต่เดิมชื่อ “วัดธาตุ” ตั้งขึ้นพร้อมกับการสร้างบ้านนาหว้า เมื่อครั้งไทญ้อจากเมืองปุ่งลิงอพยพหาทำเลสร้างบ้านเมือง จนมาพบทำเลบริเวณบ้านนาหว้าปัจจุบันมีเจดีย์เก่าแก่ที่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างมาในสมัยใดลักษณะเป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ฐานเจดีย์กว้าง ด้านละประมาณ ๗ เมตร เท่ากันทั้งสี่ด้าน สูงประมาณ ๓๐ เมตร ฐานซ้อนกันเป็นชั้นๆ อิฐที่ใช้ทำการก่อสร้างเป็นอิฐขนาดใหญ่มีซุ้มจัตุรมุข เชื่อว่าแต่เดิม คงมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่พระเจดีย์องค์นี้มีลักษณะคล้ายกับเจดีย์วัดศรีบุญเรืองบ้านเวียงคุกหรือเจดีย์วัดนาค ชานนครเวียงจันทน์ สันนิษฐานว่าอาจสร้างรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่เจดีย์ในอีสานสมัยโบราณ ส่วนใหญ่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จากกษัตริย์ล้านช้างได้แก่ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (เจ้าเชษฐวังโส) พระเจ้าบัณฑิตโพธิสารหรือพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๒ (ตำนานธาตุโพ่น เรียก พระยาแสนหลวงนครตำนานธาตุพนม เรียกพระเจ้านครหลวงพิชิตทศทิศราชธานีศรีโคตรบูรหลวงหรือพระเจ้าขัติยวงศาราชบุตรมหาฤาไชยไตรทศฤาเดชเชษฐบุรีศรีโคตรบูรณ์หลวง ก็เรียกนามเดิมคือเจ้าองค์หล่อ) พระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช เป็นต้น

พระเจดีย์เก่าบ้านนาหว้านี้ จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่รุ่นปู่ ย่า ตา ทวดได้ไปค้าขายทางพม่าตอนใต้มีผู้ถามถึงเจดีย์บ้านนาหว้า และบอกว่าสมัยรุ่นปู่ ย่า ตา ทวด ของพวกเขาเคยมาอยู่บ้านนาหว้า และเคยบูรณปฏิสังขรณ์ พระเจดีย์ แต่ได้ถูกพม่ากวาดต้อนเป็นเชลยไปอยู่เมืองพม่า พ.ศ. ๒๔๓๖ (ก่อนเกิดเรื่องผีบุญ พ.ศ. ๒๔๔๓ /๗ปี) ในฤดูหนาว พระเจดีย์องค์นี้ได้หักพังลง โดยหักพังไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ (จากคำบอกเล่าของจารย์ดอน รักษาเคน ซึ่งได้รับการบอกเล่าต่อมาจากปู่ คือ ทิดโคง โดยเล่าว่าขณะที่พระธาตุหักพังลง มานั้นทิดโคงกำลังนั่งผิงไฟอยู่ใต้ต้นมะขาม) โดยหักพังลงเป็นระยะความสูงจากระดับดินประมาณ ๕ เมตร (ครูสนธิ์ วงศ์พัฒน์ ซึ่งเคยเขียนประวัติบ้านนาหว้าและวัดธาตุประสิทธิ์ ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระครูประสิทธิ์ศึกษากร (สิงห์ ธมฺมวโร)กล่าวไว้ว่าตนบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ เคยขึ้นไปทำความสะอาดบนฐานเจดีย์ที่หักมีต้นไม้เล็กๆ และหญ้าปกคลุมอยู่ พบบาตรขนาดใหญ่หลายใบตั้งอยู่ ภายในบาตรแต่ละใบพบพระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปบุด้วยแผ่นเงินพระพุทธรูปเงินโบราณพระพุทธรูปทำด้วยว่านเกสรดอกไม้หุ้มเงิน หุ้มทอง พระพุทธรูปทรงเครื่อง และพระพุทธรูปดินเผามีขนาดแตกต่างกัน จำนวนหลายองค์)

พ.ศ.๒๔๙๙ พระครูประสิทธิ์ศึกษากร (สิงห์ ธมฺมวโร) เจ้าอาวาสวัดธาตุประสิทธิ์ได้ดำเนินการก่อสร้างพระธาตุเจดีย์องค์ใหม่ ได้ย้ายเศษอิฐและรื้อฐานเจดีย์องค์เก่าออก ให้ได้ระดับเดียวกันกับพื้นดิน จึงได้รวบรวมพระพุทธรูปทองคำพระพุทธรูปบุด้วยแผ่นเงิน พระพุทธรูปเงินโบราณ พระพุทธรูปทำด้วยว่านเกษรดอกไม้ หุ้มเงิน หุ้มทอง พระพุทธรูปทรงเครื่อง และพระพุทธรูปดินเผาจากฐานเจดีย์องค์เดิม เมื่อพิจารณาจากลักษณะองค์พระพุทธรูปแต่ละองค์แล้วพบว่า เป็นพระพุทธรูปที่สร้างต่างยุคต่างสมัยกัน แต่มีพระพุทธรูปหลายองค์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปที่พบในวัดพระธาตุพนม สันนิษฐานว่าอาจมาจากบริเวณเดียวกัน และนอกจากนี้ยังพบเครื่องใช้ เครื่องประดับและของมีค่าจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านที่มาอยู่ก่อนและร่วมกันสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นคงได้นำมาบรรจุลงไว้ในฐานพระธาตุเพื่อเป็นที่สักการบูชาชองชุมชนนั่นเอง โดยได้สร้างเลียนแบบพระธาตุพนมลักษณะรูปทรง สี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ ๗.๒๐ เมตร วัดโดยรอบฐาน ๒๘.๘๐ เมตร สูง ๒๘.๕๒ เมตร มีประตูเปิด-ปิด ๒ ด้าน และได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ รวม ๑๔ พระองค์และดินจาก สังเวชนียสถาน ๔ แห่งคือ ที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงพระธรรมเทศนา และปรินิพพาน และพระพุทธรูปที่พบในเจดีย์องค์เก่า มาบรรจุไว้ในองค์พระธาตุด้วยการก่อสร้างพระธาตุเจดีย์องค์ใหม่นี้แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๖ พร้อมตั้งชื่อองค์พระธาตุใหม่ว่า “พระธาตุประสิทธิ์” ตามราชทินนามของพระครูประสิทธิ์ศึกษากร เจ้าอาวาสผู้ก่อสร้างนั่นเอง

ภายในพระธาตุประสิทธิ์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และอรหันตธาตุเจ้า รวม ๑๔ พระองค์และดินจากสังเวชนียะสถาน ๔ แห่งคือ ที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงพระธรรมจักร และปรินิพพาน นอกจากนี้ยังมีพระพุทธบาทจำลอง ที่อัญเชิญมาจากกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ การก่อสร้างพระธาตุเจดีย์องค์ใหม่นี้ แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ พระครูศรีวชิรากร (เจ้าคณะอำเภอนาหว้า รูปที่ ๓) ปัจจุปันดำรงตำแหน่งเป็น พระราชสิริวัฒน์ (รองเจ้าคณะจังหวัดนครพนม) ได้ทำการเปลี่ยนฉัตรองค์พระธาตุใหม่ ฉัตรทำด้วย ทองคำหนัก ๘๙ บาท ประกอบพิธียกฉัตรเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๔ โดย คุณหญิงพันธ์เครือ ยงใจยุทธ

ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่า ผู้แก่ ที่เคยบวชเรียนเขียนอ่านอยู่ในวัดธาตุประสิทธิ์เล่าว่า ในอดีตตามโคนต้นโพธิ์ โคนต้นมะม่วง โคนต้นขนุน หรือข้างเจดีย์จะมีชิ้นส่วน พระพุทยยธรูป ที่ชำรุดสลักด้วยหินทราย วางระเกระกะอยู่เป็นจำนวนมาก (ศิลปะแกะสลักพระพุทธรูป ในหินทรายเป็นศิลปะลพบุรี) แต่ปัจจุบันไม่พบ คาดว่าคงถูกดินทับถมไปหมดแล้ว พบกะตึบหลังหนึ่ง
ลักษณะเหมือนอุโบสถ มีหน้าต่างเล็กๆภายในมืดสนิท (ภาษาถิ่น เรียกว่า “มืดตึบ”) มองอะไรไม่เห็น สันนิษฐานว่า สร้างไว้เพื่อเป็นที่ปลุกเสกของขลัง ตามลัทธิความเชื่อทางไสยศาสตร์ตั้งแต่สมัยไทญ้อได้เข้ามาตั้งบ้าน ปัจจุบันได้รื้อออกแล้ว

อุโบสถหลังเดิมหันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีบันไดขึ้นด้านหน้าสองข้าง ด้านหลังเขียนตัวนูน ด้วยอักษรพม่า ปั้นลม ปั้นชาย ประดับด้วยไม้ฉลุสวยงาม ปัจจุบันได้รื้อสร้างใหม่ โรงธรรม (ศาลาการเปรียญ) หลังเก่าหันหน้าไปทางทิศใต้มีขนาดใหญ่มาก สร้างด้วยไม้ เสาที่นำมาสร้างมีขนาดใหญ่ คนเดียวโอบไม่รอบในการขนย้ายจากป่าต้องใช้ล้อไม้ขนาดใหญ่ ปัจจุบันได้รื้อสร้างใหม่ ต้ายหิน (กำแพง) ลักษณะการก่อสร้างแปลกไปจากวัดอื่น คือ ใช้ก้อนหินจำนวนมากมาเรียงให้สูงขึ้นไปจนรอบวัดมีขนาดกว้าง ๑ เมตร สูง ๑.๔๐ เมตร จนรอบวัดเป็น
กำแพงอย่างแน่นหนา ปัจจุบันได้รื้อสร้างใหม่ด้วยอิฐแทน แต่ยังปรากฏให้เห็นอยู่บ้างเป็นบางส่วน ทางด้านทิศตะวันออก บริเวณหน้าองค์พระธาตุ

วันจันทร์ ที่ ๑๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๕
เวลา ๑๐.๑๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินโดยเครื่องบินพระที่นั่ง พร้อมด้วยสมเด็จ พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริธรเทพรัตนราชสุดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินต้น (กฐินส่วนพระองค์) ณ วัดธาตุประสิทธิ์ กิ่งอำเภอนาหว้า อำเภอศรีสงคราม
จังหวัดนครพนมและทรงเยี่ยมราษฎร

เวลา ๑๒.๑๐ น. เสด็จพระราชดำเนินถึงสนามบินเชียงเครือ จังหวัดสกลนคร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ไปยังจังหวัดนครพนม

เวลา ๑๒.๓๕ น. เสด็จพระราชดำเนินถึงลานกิ่งอำเภอนาหว้า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม แล้วเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังวัดธาตุประสิทธิ์

เวลา ๑๒.๔๐ น. เสด็จพระราชดำเนินถึงวัดธาตุประสิทธิ์ ภายหลังพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว พระราชทานผ้าห่มพระธาตุแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว พระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน แล้วประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังกิ่งอำเภอนาหว้า ทรงเยี่ยมราษฎรที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จอย่างคับคั่ง อยู่ที่สนามบินบริเวณกิ่งอำเภอนาหว้ามีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรอย่างใกล้ชิด แล้วเสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไปยังโครงการชลประทานน้ำอูนอำเภอสว่างแดนดิน
จังหวัดสกลนคร

ที่มา http://www.vatthatprasit.net/index2.html

 

แผนที่การเดินทาง