จิตรกรรมฝาผนังวัดพุทธสีมา


จิตรกรรมฝาผนังวัดพุทธสีมา

จิตรกรรมฝาผนังวัดพุทธสีมา
                        ที่ตั้ง   บ้านฝั่งแดง   ตำบลฝั่งแดง   อำเภอธาตุพนม   จังหวัดนครพนม
                        หลักฐาน   ที่ผนังด้านนอกตัวสิมปรากฏภาพจิตรกรรมเหนือกรอบประตู   และหน้าต่างทั้ง   2   ด้านภายในกรอบอาร์คโค้งเหมือนบานหน้าต่างมีจิตรกรรมฝ่าผนังลายเส้นใช้สีแซมแต่เพียงบางส่วน   รูปภาพภายนอกเป็นภาพพุทธประวัติ   นรก   พระเวสสันดรชาดก   ทศชาติ   บางเรื่อง   พระมาลัย   สินไช   ราหูอมจันทร์   เทพชุมนุม   ทหารฝรั่ง   ทศกัณฐ์   และสัตว์หิมพานต์   ส่วนรูปภายในเป็นเรื่องพุทธประวัติ   ทศชาติ   สินไชชาดก   จันทโครพ   สุธนชาดก   ต้นนารีผล   ทหารฝรั่ง   ช่างแต้ม   คือ   จารย์คูน   และ   จารย์ผุย   งานจิตรกรรมฝาผนักของวัดพุทธสีมา   มีรายละเอียดดังนี้
                        งานจิตรกรรมที่มีความเด่นของวัดพุทธสีมา   ปรากฏอยู่บนพื้นผนังภายในทั้งสี่ของตัวอาคารบนพื้นผนังหลังองค์พระประธานปรากฏฮูปแต้ม   ตั้งแต่บริเวณเหนือองค์พระประธานไล่ไปจนตกกรอบพื้นผนังด้านบน   แบ่งกรอบของภาพพื้นผนังออกเป็นส่วนใหญ่ ๆ คั่นด้วยลายเครือเถาตรงกับแนวหน้าต่างด้านบนของผนังด้านรีด้านล่างสุด     ของกรอบหน้าต่างจะมีลายเครือเถาที่เป็นกรอบภาพอีกเช่นกัน   กรอบภาพที่เห็นมีเฉพาะกรอบภาพในลักษณะแนวนอนไม่ปรากฏกรอบภาพในลักษณะแนวตั้งดังเช่นรูปฮูปแต้มฝาผนังวัดโพธิ์คำ   อำเภอธาตุพนม   จังหวัดนครพนม
                        บนผนังด้านนอกตัวอาคารปรากฏฮูปแต้มอยู่เหนือกรอบประตูและหน้าต่างด้านรีทั้ง   2   ด้าน   ภายในกรอบอาร์คโค้งเหนือบานหน้าต่าง   มีฮูปแต้มเน้นความสำคัญด้วยเส้นใช้สีแซมแต่เพียงบางส่วนมีสีส่วนรวมเป็นเอกรงค์
                        ด้านนอกของตัวอาคารทั้งสี่ด้านแต่ละห้องมีเสาหลอกนูนออกมาจากผนัง   ประดับด้วยฮูปแต้มตั้งแต่เสาลงมาจรดเหนือบานหน้าต่าง   ยกเว้นผนังด้านหลังแต่เพียงด้านเดียว
                        โครงสีส่วนใหญ่เป็นสีเอกรงค์ (Monchrome)   โดยเฉพาะผนังด้านหน้าองค์พระประธานแทบไม่ได้ใช้สีอะไรเลยคล้ายกับภาพลายเส้น   (Drawing)   อีกกรณีหนึ่ง   สีอาจจะไม่เพียงพอหรือเป็นความตั้งใจของช่างแต้มเองที่ประสงค์จะใช้สีแต่เพียงน้อยสี   แต่เน้นให้เห็นคุณค่าของความงามด้วยเส้นรอบนอกที่เป็นฟอร์มบอกรูปทรงของตัวละคร   ต้น   ปราสาทราชวัง   และบรรดารูปสัตว์ที่เป็นพญามารต่าง ๆ   ช่างแต้มใช้สีดำเพื่อแสดงให้ทราบว่าเป็นเรื่องอะไร ๆ   ลายเส้นที่เป็นตัวแทนของน้ำในมหาสมุทรที่นางธรณีบิดมวยผมจนพญามารปั่นป่วนนั้น   ช่างแต้มใช้เป็นสีเทาอ่อน   หรือฟ้าอ่อน   หากไม่สังเกตจะไม่เห็นเพราะสีเกือบจะกลืนไปกับผนักสีขาว
                        สีที่เด่นออกมามีส่วนช่วยให้ภาพมีความสดใสโดยเด่นขึ้นมาช้าง   ได้แก่   สีเขียวไพล   เช่น   สีของงูที่เป็นพญามาร   สีหน้าของรามสูร   หน้าพญามาร   ปีกนกหัสดีลิงค์   ปีกนกแก้ว   ต้นหญ้า ตลอดจนสีของกล้วยไม้
                        สีเขียวเข้มเป็นสีของพุ่มได้ใหญ่
                        สีแดงเป็นรัศมีของพระพุทธเจ้า   สีหน้าบันปราสาท   สีดอกกล้วยไม้ยามเบ่งบานเต็มที่หรือสีแดงของปากนกแก้ว   และเพื่อต้องการให้ภาพของพญามารร้ายที่มุ่งหวังทำลายพระพุทธเจ้า   เช่น   จระเข้   หรือปลายักษ์   เกิดความดุร้าย   น่าเกลียดกลัว   ช่างเขียนจะระบายสีดำคล้ำมีน้ำหนักอ่อนแก่เกิดคุณค่าของสี   แต่มิใช้สีดำที่ทึบตัน   แสดงให้เห็นว่าช่างแต้มมีความชำนาญต่อการใช้เส้นและสีแต่เพียงน้อยสี   นั่นคือความชำนิชำนาญและเสน่ห์ของช่างแต้มที่มีรูปแบบในการสร้างภาพให้เกิดความงาม