จิตรกรรมฝาผนังวัดหัวเวียงรังสี
จิตรกรรมฝาผนังวัดหัวเวียงรังสี
สิมวัดหัวเวียงรังษี มีรูปทรงแบบสิมริมแม่น้ำโขง ภาพแต้มปรากฏอยู่ภายในสิมและภายนอกสิมบางแห่งภาพภายนอกลบเลือนเป็นจำนวนมาก ภายในเป็นเรื่องพุทธประวัติ ทศชาติ รามเกียรติ์ ลักษณะวงศ์เทพ สัตว์หิมพานต์ และพระพุทธรูปปางต่าง ๆ วาดขึ้นในราว ๆ พ.ศ. 2464 ให้เวลาวาดอยู่ 2 ปี ช่างแต้มคือ หลวงชาญอักษร (ชาญเทพคแหง) จารย์คูณ และจารย์ลี
งานจิตรกรรมของวัดหัวเวียงรังษี มีรายละเอียดดังนี้ ลักษณะจิตรกรรมเป็นจิตรกรมมสกุลช่างหลวง แต่เขียนตามความนิยมในท้องถิ่น สีที่ใช้เป็นสีฝุ่นมีวรรณะเย็น ได้แก สีคราม เขียม น้ำตาล และดำ ในการเขียนภาพนั้น ช่างจะใช้สีขาวรองพื้นก่อน แล้วร่างภาพด้วยดินสอจากนั้นจึงลงสีที่ตัวภาพ โดยใช้ลายเส้นตัดขอบและเขียนเน้นลงลายต่าง ๆ ของภาพเครื่องแต่งกาย อาวุธ เครื่องใช้ และสิ่งของอื่น ๆ แต่บางภาพก็เขียนเป็นลายเส้นโดยไม่ได้ลงสี
องค์ประกอบภาพที่ปรากฏเป็นบุคคลสำคัญจากพุทธประวัติ อาคารบ้านเรือน ต้นไม้ ภูเขาจะลอนเด่นจากพื้นผนัง ช่างแต้มจะไม่ทำการล้วงพื้นภาพจุดเดียวกับภาพแต้ม ที่ปรากฏพบเห็นกันโดยทั่วไป ช่างแต้มมีความชำนาญเป็นพิเศษในการเขียนเส้นมุ่งแสดง เพื่อก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกด้วยความประณีตละเอียดอ่อน เป็นเส้นที่มีขนาดเล็กมาก แต่สะท้อนออกมาให้เห็นว่ามีความเด็ดเดี่ยว เฉียบขาด บรรยากาศของภาพส่วนรวม มองดูคล้ายกับเป็นงานวาดเส้น (Drawing) แทนที่จะเป็นงานจิตรกรรมที่ซึ่งช่างแต้ม จะสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกออกมาด้วยสี
สีที่เห็นเด่นเป็นพิเศษและมีอาณาบริเวณของพื้นที่มากกว่าสีอื่นใดก็คือ สีครามเข้มสดใสมองเห็นเนื้อของสีครามแท้ ๆ มีน้ำหนักเข้มมิได้เจือด้วยสีขาวหรือสีอื่นใด
ช่างแต้มจะใช้สีครามเข้มล้วงพื้นที่ เพื่อจะขับตัวภาพบุคคลให้ลอยเด่นออกมาจากฉากหลังเฉพาะบางส่วน หรือใช้เป็นสีของเครื่องแต่งกาย เช่น สีกางเกงของทหาร
สีเขียวเป็นสีที่ใช้ในอันดับรอง ปรากฏให้เห็นในส่วนของผ้าม่าน ใบไม้ ฝีแปรงการแตะแต้มใบไม้เป็นกรรมวิธีที่ต่างไปจากการตัดเส้นในส่วนที่เป็นภาพของตัวละคร หรืออาคารบ้านเรือน อาจกล่าวได้ว่าเป็นรสคนละรส เพราะใช้เทคนิคและกรรมวิธีต่างรูปแบบ หากเปรียบกับการฟังดนตรีก็จะเป็นเครื่องดนตรีต่างชนิดกัน แต่นำมาบรรเลงในกลุ่มเดียวกัน เสียงที่สะท้อนออกมาก็ผสมผสานกลมกลืนกันด้วยดี เป็นความไพเราะที่มีความหลากรส
ส่วนการเขียนภาพสถาปัตยกรรมเช่น ปราสาท ซุ้มประตูบ้านเรือน ศาลา และราชรถ มีลักษณะสวยงาม เขียนลวดลายละเอียด, การเขียนภาพจับ ภาพรบและภาพเรื่องทศชาติมีลักษณะเดียวกันแบบประเพณีที่นิยมเขียนกันในภาคกลาง แม้ในส่วนละเอียดต่าง ๆ เช่น ภาพสัตว์ต่าง ๆ และสัตว์หิมพานต์ก็ไม่ได้เขียนตามแบบที่นิยมกันในภาคอีสาน กลับเป็นแบบสกุลช่างหลวงทางภาคกลางทั้งสิ้น แต่การวางองค์ประกอบภาพมีช่องไฟมาก เป็นผนังว่าง ๆ สีขาวทำให้ดูโปร่งและเบา ซึ่งเป็นลักษณะของงานช่างพื้นบ้าน เช่น ช่องไฟที่เป็นท้องฟ้ามากมีก้อนเมฆเรียงกันเป็นแถว ปลายเมฆปลิวแบบเมฆไหลหรือภาพดอกไม้ร่วง เป็นต้น
งานจิตรกรรมแห่งนี้จึงงดงามน่าสนใจมาก ให้ความรู้ทั้งทางงานช่างหลวง และช่างพื้นบ้านเป็นหลักฐานของศิลปกรรมที่สำคัญมากแห่งหนึ่ง
www.nakhonpanom.com