จิตรกรรม นครพนม


จิตรกรรม นครพนม

        จิตรกรรม   จิตรกรรมฝาผนัง   มักจะปรากฏอยู่ภายในโบสถ์   และด้านหน้าโบสถ์มีบางแห่งอยู่ที่ศาลาการเปรียญ   ลักษณะของจิตรกรรมมักจะเขียนตามความนิยมในท้องถิ่นสีที่ใช้เป็น   สีฝุ่น   มีวรรณะเย็น   เช่น   สีคราม   เขียว   น้ำตาล   และดำ   ส่วนภาพที่เขียนมักจะเป็นเรื่อง   พุทธประวัติ    รามเกียรติ์   และพระพุทธรูปปางต่าง ๆ   ที่ปรากฏภาพจิตรกรรมฝาผนังได้แก่
                        วัดหัวเวียงรังษี   บ้านพระกลางทุ่ง   อำเภอธาตุพนม
                        วัดพุทธสีมาราม   บ้านฝั่งแดง   อำเภอธาตุพนม
                        วัดโพธิ์คำ   ตำบลน้ำก่ำ   อำเภอธาตุพนม
                        วัดธาตุประสิทธิ์   บ้านนาหว้า   อำเภอนาหว้า
                        จิตรกรรมฝาผนังวัดโพธิ์คำ   บ้านน้ำก่ำ   ตำบลน้ำก่ำ   อำเภอธาตุพนม   วัดโพธิ์คำเป็นวัดเก่าแก่มีมาพร้อมกับบ้าน้ำก่ำ   สร้างเมื่อ   พ.ศ. 2418   แต่สิมวัดเพิ่งสร้างเสร็จ   ในปี   พ.ศ.   2476   โดยช่างชาวญวน   สิมที่วัดเป็นสิมก่อผนัง   หันหน้าออกสู่แม่น้ำโขง   ด้านหน้ามีประตู   1   ช่อง   ทางขึ้นมีบันได   ราวบันไดทำเป็นตัวนาคทั้ง   2   ด้าน   ด้านข้างมีหน้าต่างด้านละ   2   บาน   และเสริมเสริมด้วยหน้าต่างช่องลมมีลูกกรง   ตรงช่วงห้องที่   3   ของตัวอาคาร   หน้าบันมีปูนปั้นเป็นลวดลายเครือเถา   กึ่งกลางมีภาพปูนปั้น   พระพุทธรูประบายสีเฉพาะตัวลายและองค์พระพุทธรูป
                        ภายในสิมมีรูปแต้มเรื่องพุทธประวัติ   สุริยวงศ์   พระมาลัย   พระป่าเลไลยก์   รามเกียรติ์   โดยช่างแต้ม   ชื่อ   พ่อลี   ชะปราณ   และนายบุญปัน น้องชาย   ใช้เวลาวาดอยู่ประมาณ   ปีเศษ
                        ภายในตัวอาคารสิม   บนผนังทั้งสี่มีภาพแต้มซึ่งมองดูคล้ายกับว่าช่างแต้มได้วาดภาพลงบนผืนผ้าพระเวส   1   ผืน   ต่อกันทางแนวยาว   โดยดึงผืนผ้าผืนบนขึ้นให้ถึงยอดสุดของฝาผนังแล้วทิ้งลงมาให้ตึงไม่ให้เห็นส่วนล่างสุดของผืนผ้าที่   2   ให้ทิ้งตัวลงมาสุดเพียงกึ่งกลางช่องหน้าต่าง  ทำให้พื้นที่ของผนังส่วนล่างมีเนื้อที่ว่างเหลืออีกเป็นจำนวนมาก
                        ผืนผ้าทั้งสองที่เรียงต่อกันตามแนวยาวนั้นจะมีกรอบหรือแถบคั่นทั้งขอบบนกลางและขอบล่างสุด   กรอบลายคั่นบนสุดจะเป็นลายเครือ   ตรงกลางจะเป็นลายเปลว   ล่างสุดจะเป็นลายลูกฟักก้ามปู
                        เมื่อพิจารณาภาพส่วนรวมแล้ว   จากฐานพื้นอันเป็นหัตถบาทเชื่อมต่อกับกำแพงหรือพื้นผนังขึ้นไปจรดฮูปแต้มจะมีอาณาบริเวณที่ปล่อยว่างไว้เป็นจำนวนไม่น้อย   ผิดกับสิมอื่นโดยทั่วไปที่มีฮูปแต้ม   หรือผิดไปจากฮูปแต้มของช่างหลวงส่วนกลาง   ซึ่งเนื้อที่ของภาพจะเริ่มตั้งแต่ขอบด้านล่างของหน้าต่างไล่เรื่อยขึ้นไปทางด้านบนจรดส่วนเหนือสุดของผนังที่เชื่อมต่อกันกับเพดาน
                        บรรยากาศของฮูปแต้มในภาพรวมที่ผนังจะมีความโปร่งใส   สุกสว่าง   สะอาด   ฉากหลังหรือพื้นภาพที่เปรียบเสมือนกับผืนผ้าสีขาวที่โปร่งใสของจอหนังตะลุง   บนจอปรากฏภาพของตัวละครซ้อนประสานกลมกลืนกันไปกับฉากหลังในความกลมกลืนก็พอจะมองเห็นว่าเป็นภาพตอนใด   จากเรื่องใด   เป็นภาพแต้มที่ตัวละครมิได้ลอยโดดเด่นอย่างโจ่งแจ้ง   รุนแรงเหมือนกับภาพจิตรกรรมฝาผนังส่วนกลางสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์   ช่างแต้มจะทำการล้วงพื้นฉากหลังด้วยสีเข้มจนบางแห่งเป็นสีดำ   ทำให้ตัวละครลอนเด่นออกมาจากฉากหลังอย่างเห็นได้ชัด   เป็นเหตุให้เกิดเป็นมิติที่ล้ำลึกไกลกว่าคุณลักษณะ   หรือวัตถุประสงค์เดิมของานจิตรกรรมฝาผนังไทยที่ปรากฏแต่เพียง   2 มิติ   ซึ่งจะมีผลให้ระนาบของพื้นผนังยังรักษาคุณค่าของความเป็นปึกแผ่น   อันเป็นโครงสร้างหลักทางงานสถาปัตยกรรม
                        บนผนังด้านรีทั้งสอง   ส่วนที่เห็นเด่นชัดเป็นภาพของโขดหิน   ภูเขา   เขามอ   ต้นไม้สีเขียวคล้ำ   โขดหินที่มีรูปฟอร์มคล้ายกับอักษร   ภ   รูปลักษณะของภาพต้นไม้ภูเขาที่ปรากฏตามจุดต่าง ๆ   จะเป็นรูปทรงที่มีการออกแบบเน้นหรือเค้นคุณค่าสาระของความรู้สึกเป็นป่า   ต้นไม้   และภูเขาได้เป็นอย่างดีเยี่ยม
                        สี่ที่ใช้สำหรับฮูปแต้มของวัดโพธิ์คำ   สีเอกที่ครอบคลุมอาณาบริเวณของเครื่องทางกษัตริย์มี   ชฎา   เป็นต้น   สีรงค์ที่ใช้สีเหลืองนี้เป็นสี่ที่ใช้แทนทองคำเปลวอันเป็นลักษณะรวมของภาพแต้มในกลุ่มลุ่มน้ำโขงและแถบสีอีสานกลาง   นอกจากนั้นก็มีสีดำ   น้ำเงิน(คราม)   เขียว   และส้ม
                        การใช้สีที่แปลกออกไปของวัดโพธิ์คำ   ก็คือไม่ปรากฏมีการใช้สีแดง   หรือสีน้ำตาล   สีที่ใกล้เคียง   ได้แก่สีแดง   หรือสีส้มใสๆ   อาจเป็นสีน้ำหมากซึ่งเป็นสีที่มีความโปร่งใส