สถาปัตยกรรม วัดวุฒิวราราม

                        ที่ตั้ง    บ้านโพนสาวเอ้   อำเภอเรณูนคร   จังหวัดนครพนม
                        ประวัติ    เป็นวัดของชุมชนไท – ผู้ไทย สิมสร้างเมื่อ พ.ศ. 2476 โดยพระกองมณีวิยะโล และพระครูสอนมารา เป็นหัวหน้า หลวงพ่อคำวอน (ผู้ให้สัมภาษณ์) ยังเป็นเด็กอยู่ได้ช่วยปั้นดินทำอิฐซึ่งเอาดินมาจากหนองไม้ท่านวดเหยียบย่ำเองโดยไม่ได้ผสมอะไรก่อเตาเปิดช่องใส่ฟืนสำหรับเผาอิฐ ส่วนประกอบ (ปูนฉาบ) นั้นใช้ปูนขาวหินผสมยางบงและน้ำหนังควาย    ส่วนของสีที่มานำแต้มตามรูปปั้นปูนประดับสิมหลังนี้นั้น   งมเอามาจากใต้แม่น้ำโขง   และลำห้วยใกล้ ๆ   มีสีเหลือง   แดง   แสด   นำมาตำแล้วกรองเอาส่วนละเอียดแล้วผสมยางไม้สะเดาและขี้ซี่ไม้จิกพระประธานในสิมเป็นปูนปั้นหน้าตัก   98   เซนติเมตร   สูง   1.43   เมตร   ฐานสูง   1.04   เมตร   นอกจากนั้นยังมีพระไม้ที่เก่าแก่มาก่อนสิมหลังนี้มีคุณค่าทางพุทธศิลป์แบบพื้นบ้านอย่างสมบูรณ์
                        หลักฐาน   สิมทึบขนาดกลางกว้าง   4.5   เมตร   ยาว   7.15   เมตร   มีมุขหน้าทำบันไดทางขึ้น   3   ทาง   ซึ่งโดยปกติจะมีเพียงด้านข้าง   2   ทางหรือไม่ก็ตรงกลางทางเดียวเท่านั้น   ลักษณะซุ้มโค้งด้านหนาแบ่งเป็น   3   ซุ้ม   และลักษณะของบันไดที่ทำภายนอกนั้นน่าจะได้อิทธิพลจากรูปแบบของช่างญวน   ซึ่งมีผลงานอยู่มากมายในแถบนี้   สิมหลังนี้ทำหลังคาจั่วชั้นเดียวมุงกระเบื้องดินแต่ช่อฟ้าปั้นปูนมียอดประดับด้วยขวดแก้วสีขาวทรงลูกฟักทองมีโลหะดัดโค้งรองรับ   4   ด้าน   คล้ายนรศูลหน้าบั้นทั้งด้านหน้าแล้ะด้านหลังมีภาพปั้นปูนนูน   รูปพระพุทธเจ้าประทับยืนภายในซุ้มโค้ง   ด้านละ   3   องค์   ที่แปลกพิเศษ   คือ   ช่างทำไม้แขนนางยันจากจากบนซุ้มกลางขึ้นไปรับอกไก่ของหลังคาปั้นลมทำเป็นลำของไม้แอ่นลงมาไม่ปรากฏหางหงส์   ซึ่งอาจจะชำรุดก็เป็นได้   ส่วนคันทวยนาคนั้นนับเป็นรสชาติทางฝีมือของช่างพื้นบ้านโดยแท้   ตัวสิมก่ออิฐฉาบปูนพื้นเมืองยังดูมั่นคงแข็งแรง   บานประตูด้านหน้าสลักไม้มี   2   บาน   หน้าต่างเป็นบานไม้แกะสลักด้านบนทำซุ้มโค้งข้างละ   3   บาน   ปั้นปูนรูปรามสูร   เมขลา   อยู่ด้านนอก   ส่วนอีก   2   ช่วงเสานั้นทำซุ้มหลอกปั้นปูนพระพุทธรูปยืนซุ้มละ   1   คู่   ตลอดไปถึงซุ้มผนังด้านหลังอีก   2   ซุ้ม   สิมทึบมีมุขหน้าหลังนี้   ช่างพื้นบ้านได้ประยุกต์ฝีมือเชิงช่างผสมผสานระหว่างช่างญวนกับช่างพื้นบ้านได้อย่างวิจิตรบรรจง   โดยค่อนข้างจะอลังการมากหากเทียบกับยุคสมัยนั้น   สมควรแก่การอนุรักษ์ไว้เป็นหลักฐานทางสถาปัตยกรรมพื้นบ้านอีกหลังหนึ่ง